คลังรับเป้าดันรายได้ 18%ของจีดีพี เพิ่มรายได้อีก 8 แสนล้านบาท

07 พ.ค. 2568 | 06:24 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2568 | 06:24 น.

อดีตผอ.WTO เสนอเปิดโต๊ะเจรจา WTO รับมือภาษีทรัมป์ หวั่นสงครามการค้าลุกลาม ด้าน 4 ปลัดคลัง ย้อนเวลาเล่าเรื่องฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจแต่ละยุค “ลวรณ” รับโจทย์ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้โต 18% เพื่อกลับมาใช้งบประมาณสมดุล ดันจีดีพีไทยขยายตัวได้ 5% 

ในวาระครบรอบ 150 ปี กระทรวงการคลังได้จัดงาน “MOF Journey 150 ปี เส้นทางกระทรวงการคลังไทย” ขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์์ ซึ่งภายในงานได้จัดเวทีเสวนาขึ้น โดยได้รับเกียรติจากดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ปาฐกถาพิเศษ New World Order : รับมือระเบียบโลกใหม่ 

ดร.ศุภชัยเสนอแนวคิดการจัดการเจรจาแบบ “Mini Trade Round” คล้ายกับรอบโดฮาหรือเคนเนดี้ในอดีต โดยให้ทุกประเทศเข้าร่วมแลกเปลี่ยนปัญหาและหาทางออกโดยรวม แทนการเจรจาแบบรายประเทศ 

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD)

ดร.ศุภชัยยังกล่าวถึงแนวโน้ม “China Plus One” ที่ภาคธุรกิจจีนย้ายฐานการผลิตเข้ามาในอาเซียนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ประเทศอย่างไทยเผชิญความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์หากไม่มีการเจรจากับทั้งสองฝ่ายอย่างรอบคอบ โดยประเทศในอาเซียนควรรักษาความเป็นกลางและเพิ่มความร่วมมือทางการค้าภายในภูมิภาค รวมถึงขยายตลาดสู่ประเทศเกิดใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ 

“ความไม่สมดุลของระบบเศรษฐกิจโลก กำลังผลักดันให้การค้าเป็นชนวนสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าที่คาด” ดร.ศุภชัยกล่าว พร้อมเตือนว่า ประเทศเล็ก ๆ โดยเฉพาะในอาเซียน จะได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่มีการประคับประคองเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม”

จากนั้นเป็นโอกาสพิเศษสำหรับอดีตปลัดกระทรวงการคลัง 3 ท่านและปลัดคนปัจจุบันคือ ดร.อรัญ ธรรมโน, ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ และนายลวรณ แสงสนิท มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ย้อนเวลากับเรื่องเล่าคนคลัง” เพื่อร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในแต่ละยุค พร้อมสะท้อนบทเรียนสำคัญสู่อนาคต  

ดร.อรัญเล่าถึงช่วงต้นของชีวิตราชการ ที่เข้ารับราชการในกระทรวงการคลังเมื่อปี 2497 และได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังในปี 2536 ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่เกิดการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ขึ้น โดยได้รับการผลักดันจากนายสุนทร หงส์ลดารมภ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น และได้รับการ “ปลุกเสก” ด้วยแนวคิดของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่วางรากฐานของ “วินัยการคลัง” ไว้อย่างมั่นคง  

ดร.อรัญ ธรรมโน อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

แนวทางวินัยทางการคลังที่ถือปฏิบัติมาถึงปัจจุบัน ได้แก่ การจัดสรรงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 30% ของงบรายจ่ายรวม, การผลิตเงินต้องไม่เกินการเติบโตของ GDP บวก 3% และการกู้เงินจากต่างประเทศต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยองค์กรระหว่างประเทศอย่างธนาคารโลก 

ดร.อรัญเล่าว่า ช่วงที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2536-2538 ประเทศไทยสามารถบริหารงบประมาณแบบ “เกินดุล” ต่อเนื่อง 3 ปี พร้อมทั้งลงทุนมากกว่า 30% ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว ถือเป็นยุคทองของวินัยการคลัง และเป็นช่วงเวลาที่ “ความตั้งใจ ซื่อสัตย์ และความรักบ้านเมือง” คือคุณสมบัติสำคัญของคนคลังมากกว่าความรู้ความสามารถเพียงอย่างเดียว   

“อยากให้กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีให้ได้ 18% ซึ่งจะมีโอกาสที่จะทำให้งบประมาณกลับมาสมดุลได้ และตั้งเป้าศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้ขยายตัวได้ 5% จะทำให้ประเทศเจริญกว่านี้” 

ขณะที่ม.ร.ว.จัตุมงคลเล่าย้อนเหตุการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าถึง 55 บาทต่อดอลลาร์ เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างด้านการเงินของประเทศ ขณะนั้น ตนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แม้จะไม่เชี่ยวชาญด้านการเงิน แต่ได้รับความไว้วางใจให้เร่งฟื้นฟูเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล  อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

หนึ่งในผลงานที่สำคัญที่สุดของ ม.ร.ว.จัตุมงคล คือ การแยกบทบาทของธปท.ออกจากกระทรวงการคลังอย่างชัดเจน พร้อมผลักดันให้มีการจัดทำกฎหมายใหม่ของธปท. เพื่อให้มีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมุ่งให้คณะกรรมการกำหนดนโยบายส่วนใหญ่ไม่สังกัดกระทรวงการคลัง และสร้างระบบการบริหารที่ไม่ขึ้นตรงต่อฝ่ายการเมือง 

“การบริหารเศรษฐกิจต้องอิงหลักการ ไม่อิงอารมณ์และอิทธิพลการเมือง” ม.ร.ว.จัตุมงคลกล่าว พร้อมย้ำว่า ความเป็นอิสระของธปท. คือหนึ่งในมรดกสำคัญที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว 

ด้านดร.สถิตย์เข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังในปี 2552 ท่ามกลางวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยติดลบอย่างหนัก ตนได้ผลักดันมาตรการ “เช็คช่วยชาติ” แจกเงินประชาชน 2,000 บาท เป็นเม็ดเงินรวมกว่า 19,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคและลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง

นอกจากนั้น ยังเป็นผู้วางโครงสร้างโครงการ “ไทยเข้มแข็ง” วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะปานกลาง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน สนามบิน และการพัฒนาระบบราชการ รวมถึงการพัฒนาคน 

“ในปี 2552 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแรงถึง 7.5%” ดร.สถิตย์กล่าว พร้อมเน้นว่า นโยบายการคลังที่ดีต้องมุ่งฟื้นฟูทั้งระยะสั้นและวางรากฐานระยะยาว  ผลงานที่ภาคภูมิใจอีกด้านคือ การปฏิรูปภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทนระบบภาษีเดิมที่ใช้ดุลพินิจสูง พร้อมผลักดันกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อสร้างหลักประกันการออมให้แรงงานนอกระบบ

นายลวรณปลัดกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน เล่าย้อนช่วงเวลาวิกฤตโควิด-19 ว่า เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และกระทรวงการคลังต้องลงมือช่วยเหลือประชาชนในเวลาอันสั้น โดยใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ และจ่ายเงินเยียวยารวมกว่า 220,000 ล้านบาท 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง

“ไม่มีทุจริตแม้แต่บาทเดียว เงินส่งตรงถึงมือประชาชน” นายลวรณกล่าว พร้อมเน้นว่าการทำงานครั้งนั้นคือบทพิสูจน์ความพร้อมของระบบคลังยุคใหม่ 

นอกจากนั้น เขายังผลักดันนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) การปฏิรูประบบภาษี และการพัฒนาเจ้าหน้าที่คลังให้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยวางแผนเปิดหลักสูตรร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อผลิตบุคลากรที่เข้าใจเครื่องมือดิจิทัล เช่น ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบจัดเก็บภาษีอัจฉริยะ  

เป้าหมายสำคัญที่เขาพร้อมรับมอบจากอดีตปลัดคลัง คือ การผลักดันให้การจัดเก็บรายได้ของประเทศอยู่ที่ 18% ของ GDP จากระดับปัจจุบันที่ 12–13% เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาใช้งบประมาณแบบสมดุล และมีอิสระเชิงนโยบายมากขึ้น 

“ถ้าเราทำได้ จะมีรายได้เพิ่มอีก 8 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการลดการขาดดุลลงจนสมดุล” นายลวรณกล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,094 วันที่ 8 - 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568