ปรับ ครม. ไม่กระทบการเจรจาสหรัฐฯ เอกชนเชื่อมือทีมไทยแลนด์

22 เม.ย. 2568 | 06:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 เม.ย. 2568 | 06:52 น.

ส.อ.ท. เผยการปรับ ครม. ไม่กระทบต่อการเจรจาสหรัฐอเมริกา ชี้ภาคการเมืองอาจมีผลบ้าง แต่ต้องแยกส่วนกัน ระบุเชื่อมือทีมไทยแลนด์มีการเตรียมการที่ดี

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงประเด็นกระแสข่าวจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีผลต่อการเจรจากับสหรัฐหรือไม่ โดยระบุว่า เบื้องต้นไม่น่ามีผลแต่อย่างใด ซึ่งภาคการเมืองกับราชการที่มีหน้าที่เจรจาอยู่แล้ว จึงต้องแยกส่วนกัน

ทั้งนี้ การเมืองอาจจะกระทบบ้าง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมองว่าในปัจจุบันนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นทีมเจรจาที่แข็ง และมีการเตรียมการไว้อย่างดี

ส่วนกรณีสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนการเจรจากับรัฐบาลไทย เกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้า จากเดิมที่มีกำหนดไว้วันที่ 23 เม.ย.นี้ออกไปก่อน มองว่าเป็นผลดีกับไทยเนื่องจากยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมได้มากขึ้น รวมทั้งอาจมองได้ว่าปัญหาของไทยอาจจะไม่ใช่ปัญหาสำคัญของสหรัฐ

ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค. 68  อยู่ที่ระดับ 91.8 ปรับตัวลดลง จาก 93.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อก (Aftershock) กระทบต่อความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวและส่งผลให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ 

การปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเหล็กและอะลูมิเนียม ในอัตรา 25% (เริ่ม 12 มีนาคม 2568) อาจส่งผลให้การส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอตัวลง โดยในปี 2567 ไทยมีการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียม คิดเป็น 18.16% และ 13.29% ของการส่งออกทั้งหมด 

ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง จากนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดหลักที่ลดลงโดยในเดือนก.พ. 68 เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวจีน (-44.92% YoY) และมาเลเซีย (-16.57% YoY) ลดลงจากความกังวลด้านความปลอดภัย และการเข้าสู่ช่วงถือศีลอด 

ด้านยอดส่งออกรถยนต์ลดลง จากการชะลอคำสั่งซื้อของประเทศคู่ค้าเพื่อรอความชัดเจนในนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เม.ย. 68 โดยในเดือนก.พ. 68 ยอดการส่งออกลดลง 8.34% (YoY) กระทบอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ รวมไปถึงกำลังซื้อในภูมิภาคยังคงเปราะบาง จากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะข้าว อ้อยและมันสำปะหลังส่งผลต่อการใช้จ่ายในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ในเดือนมี.ค. ยังคงมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) ส่งผลดีต่อคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง 

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีมติปรับลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อลดภาระค่าพลังงานลง 50 สตางค์/ลิตร ในกลุ่มน้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซล โดยมีการปรับลดราคาในสองช่วง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 และครั้งที่ 2 ในวันที่ 4 เมษายน 2568 และการจัดงานมอเตอร์โชว์ (26 มี.ค. - 6 เม.ย. 68) ที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศได้