ประกันรายได้ข้าวปี4 นักวิชาการประเมินราคาข้าวขาขึ้น แนะจำนำยุ้งฉาง

22 ก.ย. 2565 | 08:53 น.

ประกันรายได้ข้าวปี4 นักวิชาการประเมินสถานการณ์ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังเจอปัจจัยบวก อินเดียชะลอส่งออก ค่าเงินบาทอ่อน เชื่อช่วยรัฐเซฟงบโครงการประกันรายได้ เพราะราคาเกือบชนเพดาน แนะชาวนาปลูกหอมมะลิรีบเข้าจำนำยุ้งฉาง 3 เดือนค่อยขายดึงราคาเพิ่ม

รศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักบริหารวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า สถานการณ์ราคาข้าวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งกรณีที่อินเดียประกาศชะลอการส่งออก ความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศ และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้

 

“ปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ทำให้ราคาข้าวในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้นจากราคาตันละ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต้น ๆ ก็เพิ่มมาอยู่ที่ตันละ 900 ดอลลาร์สหรัฐฯ แล้ว แม้ว่าต่ำกว่าปีก่อนที่ได้ราคาตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ค่อย ๆ ดีขึ้น โดยเฉพาะผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าด้วย” รศ.ดร.สมพร ระบุ

ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในประเทศ ที่นำมาสีเป็นข้าวขาว 5% นั้น ก็มีราคาปรับเพิ่มขึ้น จากปีก่อนประมาณตันละ 1,000 บาท โดยมีราคาขึ้นมาถึงตันละ 9,400 – 9,500 บาท และหากอินเดียยังชะลอการส่งออกต่อเนื่อง เช่นเดียวกับจีนยังประสบปัญหาภัยแล้ง ราคาข้าวจึงน่าจะปรับเพิ่มขึ้นอีก

 

ทั้งนี้มองว่า ราคาข้าวในฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และจะเป็นโอกาสของชาวนาที่จะได้ราคาข้าวดีขึ้นจากปีก่อน และยังทำให้การทำโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 ของรัฐบาลได้ประโยชน์ เพราะจะใช้เงินงบประมาณในการจ่ายส่วนต่างให้กับชาวนาลดลง 

 

ในส่วนของข้าวหอมมะลินั้น รศ.ดร.สมพร ระบุกับฐานเศรษฐกิจว่า ราคาน่าจะดีกว่าข้าวชนิดอื่น โดยสิ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับชาวนามากที่สุด คือ อยากให้เก็บข้าวไว้ในสต็อก ผ่านโครงการจำนำยุ้งฉาง เพื่อดึงราคาข้าวให้สูงขึ้น แทนที่จะขายทันทีในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เนื่องจากข้าวต้นฤดูจะมีราคาไม่สูงมากนัก และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเช่นเก็บไว้ 3-4 เดือนแล้วขายจะได้ราคาที่ดีมากแน่นอน

ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งล่าสุด ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์ข้าวไทย โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ประเมินปี 2565/66 รอบที่ 1 (นาปี) ดังนี้

  • พื้นที่เพาะปลูก 62.84 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.02 ล้านไร่ (+0.03%) 
  • พื้นที่เก็บเกี่ยว 60.58 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.73 ล้านไร่ (+1.22%) 
  • ผลผลิต 26.92 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.55 ล้านตันข้าวเปลือก (+2.09%) 

 

ขณะที่การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 รอบที่ 1 (ณ 30 ส.ค. 65) เพาะปลูก เม.ย.- ต.ค. 65 ขึ้นทะเบียนแล้ว 4.078 ล้านครัวเรือน พื้นที่เพาะปลูก 55.00 ล้านไร่

 

ด้านราคาข้าวเปลือกในประเทศ ประเมินว่า ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น เพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย 

 

ประกอบกับผลผลิตข้าวเหนียวนาปีลดลงจากปีที่ผ่านมา ข้าวเปลือกเจ้า ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากคำสั่งซื้อล่วงหน้าของประเทศคู่ค้าเพิ่มสูงขึ้น จากความกังวลเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร ประกอบกับมีความต้องการใช้เพื่อผลิตอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และ ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง 

 

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์ด้านราคาข้าว มีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามดังนี้

  • ปัจจัยบวก ได้แก่ ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่งผลให้ราคาส่งออกข้าวสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ สถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายส่งผลให้อุปสงค์ฟื้นตัว ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ลดลง และตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหาร จากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ 
  • ปัจจัยลบ ได้แก่ ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวได้

 

ขณะที่การดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าว 2565/66 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะทยอยจ่ายเงินส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าวเข้าบัญชีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวหรือชาวนาอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดจ่ายเงินส่วนต่างราคาข้าวให้กับเกษตรกรปีการผลิต 2565/66 รวมทั้งสิ้น 33 งวด เริ่มตั้งแต่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไปจนถึง 26 พฤษภาคม 2566

 

ขณะที่ราคาและปริมาณ ประกันรายได้ข้าว กำหนดราคาความชื้นไม่เกิน 15% ไม่เกินครัวเรือนละ 40 ไร่ ยกเว้นข้าวเจ้า ไม่เกิน 50 ไร่ โดยชดเชยเป็นจำนวนตันในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
  • ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันรายได้ 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน