“รฟท.” เปิดสาเหตุสะพานลอย-ลิฟต์หาย หลังสร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร

08 ก.ย. 2565 | 09:36 น.

“รฟท.” แจงเหตุสะพานลอยข้ามฟากชานชาลา-ลิฟต์หาย หลังก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร สัญญาที่ 3 เผยคืบหน้าล่าสุด ดำเนินการครบ 100% เล็งส่งมอบ ต.ค.นี้”

รายงานข่าวจากฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงถึงกรณีสะพานลอยข้ามฟากชานชาลา 35 สะพานลอย กับลิฟต์อีก 37 ตัว หายไปจากชานชาลาของสัญญาที่ 3 ในโครงการรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-ชุมพร   ว่า สถานีรถไฟที่อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 13 สถานี เป็นสถานีรถไฟขนาดเล็ก 9 สถานี และเป็นสถานีรถไฟขนาดกลาง 4 สถานี 

 

 


ทั้งนี้ตามสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างนั้น รูปแบบการก่อสร้างกำหนดให้มีสะพานลอยคนเดินข้าม และทางข้ามเสมอระดับที่ปลายชานชาลาทั้งสอง แต่เนื่องจากสถานีรถไฟส่วนใหญ่เป็นสถานีขนาดเล็กมีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละไม่เกิน 20 คน และผู้โดยสารมาใช้บริการเกิน 100 คนต่อวันเพียงสถานีเดียว ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง จึงกำหนดการสร้างทางข้ามทางรถไฟ โดยใช้หลักการคำนึงถึงความสะดวกในการใช้งานของประชาชน และการใช้ประโยชน์ได้จริงเป็นหลัก ดังนั้นการสร้างทางข้ามทางรถไฟ จึงพิจารณาให้จัดสร้างเป็นทางข้ามเสมอระดับ เพราะสามารถเดินข้ามบนที่แนวราบได้สะดวก และสามารถประหยัดงบประมาณค่าก่อสร้างของประเทศ อีกทั้งสอดคล้องกับทางข้ามทางรถไฟในสถานีขนาดเล็กของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สัญญาอื่น ซึ่งเป็นการสร้างทางข้ามเสมอระดับด้วยเช่นกัน 
 

สำหรับรูปแบบทางข้ามเสมอระดับ เป็นทางข้ามระดับดิน มีทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบในด้านการใช้งานแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า ทางข้ามเสมอระดับ ผู้โดยสารที่มาใช้บริการสามารถใช้งานได้จริง สะดวก และได้มีการออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ส่งเสริมให้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ ตลอดจนคนที่ใช้รถเข็น และครอบครัวที่มีเด็กเล็ก รวมถึงสตรีมีครรภ์ และนักท่องเที่ยว หรือคนที่ต้องลากกระเป๋าสัมภาระ สามารถเข้าถึงบริการได้จริง โดยมีความต่างจากการสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม ที่จะต้องก้าวขึ้นบันไดสูงถึง 6 เมตร ไม่เหมาะกับผู้โดยสารผู้พิการและผู้สูงอายุ 

“รฟท.” เปิดสาเหตุสะพานลอย-ลิฟต์หาย หลังสร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร

 

ขณะเดียวกันสถานีในโครงการนี้เป็นสถานีขนาดเล็กที่มีจำนวนผู้โดยสารน้อย และมีรายได้จากเก็บค่าโดยสารไม่มาก การพิจารณาจึงต้องทำอย่างรอบคอบทั้งในเชิงความคุ้มค่าของงบประมาณ การบำรุงรักษาในระยะยาว โดยเฉพาะหากมีการสร้างเป็นลิฟท์ จะทำให้เป็นภาระต่อค่าบำรุงรักษา และค่ากระแสไฟฟ้าในระยะยาว อีกทั้ง เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณการสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามในโครงการ มีราคาค่าก่อสร้างรวมเป็นเงินประมาณ 324 ล้านบาท ส่วนทางข้ามเสมอระดับมีราคาค่าก่อสร้างรวมเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาท การรถไฟฯ จึงพิจารณาอย่างรอบด้าน และเลือกสร้างทางข้ามเสมอระดับ ที่ความเหมาะสมต่อการใช้งานของประชาชน และความคุ้มค่าของงบประมาณประเทศเป็นสำคัญ
 

ที่ผ่านมาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เคยมีหนังสือถึงการรถไฟฯ รายงานข้อมูลผลกระทบจากการสังเกตการณ์ และความเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับผลกระทบของการสร้างสะพานลอย โดยระบุว่า การสร้างสะพานลอยคนเดินข้ามที่มีลิฟท์ ไม่คุ้มค่าการลงทุน อีกทั้ง ยังมีภาระการซ่อมบำรุงรักษาต่อเนื่องตลอดการให้บริการอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการพิจารณารายได้จากการโดยสารของสถานีขนาดเล็กที่มีรายได้ประมาณไม่เกินหลักพันบาทต่อเดือน ส่วนสถานีขนาดกลางที่มีผู้โดยสารมากกว่า 120 คนต่อวันมีรายได้ประมาณหลักหมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่าค่าใช้จ่ายในการดูแลระบบลิฟท์ แสงสว่าง ที่ต้องใช้ไม่น้อยกว่า 400,000 บาทต่อปีหรือประมาณ 33,000 บาทต่อเดือน จึงเห็นได้ชัดว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษา ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเลือกการก่อสร้างทางข้ามเสมอระดับที่ปลายชานชาลาทั้งสองปลายที่มีบันไดและทางลาดสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถประหยัดงบประมาณได้ อีกทั้งยังใช้ประโยชน์ได้จริงและตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งานของทางข้ามทางรถไฟอีกด้วย

“รฟท.” เปิดสาเหตุสะพานลอย-ลิฟต์หาย หลังสร้างรถไฟทางคู่นครปฐม-ชุมพร

นอกจากนี้กรณีการร้องเรียนเรื่องระยะทางของทางข้ามเสมอระดับที่ปลายชานชาลา ที่มีระยะห่างจากศูนย์กลางสถานีไปถึงทางข้ามเสมอระดับ ไกลเกินไปถึง 170 เมตรนั้น การรถไฟฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และอยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางในการก่อสร้างทางข้ามเสมอระดับที่มีระยะห่างจากศูนย์กลางสถานีไม่เกิน 20 เมตรเพิ่มขึ้นอีก 1 จุด เพื่อให้บริการผู้โดยสารผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น ผู้พิการ ตลอดจนผู้ใช้รถเข็น ครอบครัวที่มีเด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ นักท่องเที่ยวและคนที่ต้องลากกระเป๋าสัมภาระหนัก สามารถข้ามชานชาลาไปอีกฝั่งหนึ่งได้สะดวกภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่สถานีรถไฟ ซึ่งใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีกเพียงเล็กน้อย