ดัน “เมืองพัทยา” ไปยูเนสโก ชิงเมืองสร้างสรรค์โลกด้านภาพยนตร์

08 ก.ย. 2565 | 09:22 น.

กระทรวงวัฒนธรรม เตรียมพร้อมเสนอ “เมืองพัทยา” เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network ประเภทเมืองแห่งภาพยนตร์ ของโลก จากยูเนสโก พร้อมขับเคลื่อนเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดึงดูดกองถ่ายทั้งในและต่างประเทศ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมความพร้อม เพื่อเสนอชื่อ "เมืองพัทยา" เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network ประเภทเมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film) ขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

 

พร้อมทั้งเตรียมขับเคลื่อนเมืองพัทยาให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยปัจจัยสำคัญของประเทศไทยที่จะทำให้เมืองพัทยาเป็นเมืองภาพยนตร์ อาทิ สถานที่ถ่ายทำที่มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยและช่วยดึงดูดชาวต่างชาติ

ล่าสุดได้จัดทำโครงการสัมมนาสัญจร ส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยนำผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชนและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง เข้าเยี่ยมชมสถานที่ที่มีศักยภาพในการถ่ายทำภาพยนตร์ และสามารถผลักดันให้เกิดมูลค่าในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ในอนาคต 

 

พร้อมทั้ง ร่วมหารือผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการ และองค์กรธุรกิจในจังหวัดชลบุรี เพื่อนำเสนอแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ตลอดปีงบประมาณ 2565 เป็นการสร้างการรับรู้ ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีอีกด้วย 

นายอิทธิพล กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยนำทุนทางวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ และมีความหลากหลาย มาช่วยเพิ่มมูลค่าและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผลักดันการใช้ Soft Power ความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในและต่างประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประเทศไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยมีรายได้จากการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยเป็นมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท ช่วยทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดังกล่าว ในกระบวนการสร้าง หรือการผลิตภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ในวงกว้าง เช่น ธุรกิจการโรงแรม และที่พัก ธุรกิจ การคมนาคม ขนส่ง ธุรกิจการท่องเที่ยว และธุรกิจเฉพาะเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ 

 

ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งเสริมให้ใช้อุตสาหกรรมบันเทิงในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ คู่ขนานไปกับการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทย