ยอดจดทะเบียนอีวีพุ่งกระฉูด 7 เดือน BEV โต 187%

05 ก.ย. 2565 | 09:42 น.

ส.อ.ท.เผย ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ที่ใช้แบตเตอรี่ 100 % BEV รอบ 7 เดือน พุ่ง 187.53 % รถยนต์นั่งขยายตัวแรงที่ 3,607 คัน ชี้ปัจจัยรัฐให้เงินสนับสนุน ส่งผลราคารถอีวีถูกลง และผู้บริโภคมีความเข้าใจมากขึ้น คาดสิ้นปี 2565 ยอดอีวีรถยนต์นั่งอยู่ที่ 7 พันคัน

 

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึง ประมาณการการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของสมาชิกกลุ่มฯ รอบ 7 เดือนปี 2565 ว่า ในเดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 8,784 คัน เพิ่มขึ้น187.53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 3,607 คัน เพิ่มขึ้น 254.36 % รถกระบะ 11 คันเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 83.33% รถยนต์โดยสาร 49 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,125 % รถยนต์สามล้อ 136 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 312.12 % รถบรรทุก 18 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 1,700 %

 

รวมถึงรถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 4,963 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 148.65 % เป็นรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลจำนวน 4,961 คัน และรถจักรยานยนต์สาธารณะจำนวน 2 คัน

 

ยอดจดทะเบียนอีวีพุ่งกระฉูด 7 เดือน BEV โต 187%

 

ขณะที่เดือนกรกฎาคม 2565 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่จำนวน 1,459 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 334.23 % แบ่งเป็น รถยนต์นั่ง และรถกระบะมีทั้งสิ้น 577 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 410.62 % โดยเป็นรถยนต์นั่งจำนวน 575 คัน รถกระบะ จำนวน 2 คัน รถยนต์สามล้อรับจ้างมีทั้งสิ้น 22 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมของปีก่อนถึง 2,100 % รถบรรทุกมีทั้งสิ้น 3 คัน และรถจักรยานยนต์มีทั้งสิ้น 857 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมปีก่อน 287.78 %

 

นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขาย-ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด เป็นผลจากการที่รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งมาตรการที่ออกมา อาทิ เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8% เป็น 2% และรถกระบะเป็น 0% ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40% สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 ด้วยมาตรการเหล่านี้ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงและจับต้องได้

 

“ราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกลง เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยอดขายรถยนต์ในกลุ่มนี้เติบโต จากอดีตราคารถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 2 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเริ่มต้นหลักแสนบาท ทำให้ประชาชนตัดสินใจง่ายขึ้น”

 

นอกจากปัจจัยด้านราคารถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกลงแล้ว ปัจจุบันผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งในส่วนของคุณสมบัติของตัวรถ การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า การชาร์จที่บ้านต้องทำอย่างไร ต้องติดตั้งไฟแบบไหน ขณะที่สถานีชาร์จไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้น กระจายไปตามจุดต่าง ๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ออฟฟิศ สถานีบริการน้ำมัน รวมไปถึงตามเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการรถยนต์

 

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่หลายคนยังกังวล หากจะใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า คือ สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม ในกรณีที่ต้องเดินทางไกล มีความกังวลว่าจะมีสถานีชาร์จไฟบริการหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้า หรือ การงดจ่ายไฟฟ้า อาจจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณา เพราะมีตัวอย่างให้เห็นที่ประเทศจีน ว่าไฟฟ้ามีไม่เพียงพอส่งผลกระทบกับผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า

 

นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2565 ยังคงมีทิศทางการเติบโตต่อเนื่อง และหากสถานการณ์เรื่องชิ้นส่วนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ค่ายรถทยอยส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าที่จองเข้ามาตั้งแต่ต้นปี ก็คาดว่ายอดขาย-ยอดจดทะเบียนของรถยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่ง จะอยู่ที่ 7,000 คัน ส่วนปี 2566 คาดว่าจะมียอดประมาณ 10,000 -15,000 คัน

 

“ปีนี้ผ่านพ้นมา 7 เดือนยอดจดทะเบียนเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ารถยนต์นั่ง 3,600 คันแล้ว และในช่วงที่ผ่านมามีค่ายใหม่ ๆ เข้ามารุกในเซกเมนต์นี้ ส่วนค่ายที่อยู่มาก่อนก็เปิดรุ่นใหม่และราคาใหม่ที่ลดลง รวมถึงทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าที่จองเข้ามา ซึ่งหากค่ายรถส่งมอบได้เร็ว ก็คาดว่ายอดรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้จะทะลุ 7,000 คันอย่างแน่นอน”