กอนช. เตือนวิกฤติเขื่อนใหญ่น้ำเกินควบคุม 6 แห่ง

30 ส.ค. 2565 | 09:22 น.

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประกาศแจ้งเตือนด่วน วิกฤติเขื่อนใหญ่น้ำเกินควบคุม 6 แห่ง วันที่ 26-31 ส.ค. ระวังระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล กรมอุตุฯ คาดว่าจะมีฝนตกเพิ่มขึ้น

นายชยันต์ เมืองสง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง และอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้มีประกาศ ฉบับที่ 33/2565 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ในช่วงวันที่ 26 – 31สิงหาคม 2565

 

พบว่า ณ ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท้ายจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 3 – 8 กันยายน 2565 บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก ในการนี้ กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ดังนี้

 

1. พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน 2565

 

1.1 ลุ่มน้ำชี  ลำน้ำพรม และลำน้ำเชิญ บริเวณอำเภอภูเขียว คอนสาร และบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ - แม่น้ำชีและลำน้ำพอง บริเวณอำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรีเมืองขอนแก่น แวงน้อย และแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น อำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย ดอนจาน เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอกันทรวิชัย กุดรัง โกสุมพิสัย เชียงยืน และเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด

 

- ลำน้ำยัง อำเภอนาคู ห้วยผึ้ง เขาวง และกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอโพนทอง เมยวดี และเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

1.2 ลุ่มน้ำมูล

- แม่น้ำมูล บริเวณอำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา อำเภอกันทรารมย์ ยางชุมน้อยและราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

 

- ลำโดมใหญ่ บริเวณอำเภอเดชอุดม นาจะหลวย และนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี

 

- ลำเซบก บริเวณอำเภอดอนมดแดง และตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

 

2. เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ อ่างฯ แม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลกอ่างฯ น้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างฯ อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างฯ ขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก อ่างฯ นฤบดินทรจินดา จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ทั่วประเทศ

 

ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

 

1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

 

2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี

 

3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

 

4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์