“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์ ไม่ทุบราคาในประเทศ

08 ส.ค. 2565 | 08:13 น.

เปิดตัว “Shrimp Board” พร้อมแถลง แผนนำเข้านำเข้ากุ้งทะเล ปี 65 "อินเดีย-เอกวาดอร์" หนึ่งหมื่นตันเศษ ยันไม่กระทบราคาในประเทศ เพราะ มีประกันราคาซื้อ - ขายขั้นต่ำ รักษาเสถียรภาพราคากุ้งในประเทศ ระบุมีบอร์ดกุ้ง ครั้งแรกในรอบ 30 ปี ลุ้น ครม.ผ่างบ 500 ล้าน อุ้มเกษตรกร ยกแรก

วันนี้ วันที่ 8 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมพะยูน อาคารจุฬาภรณ์อธิบดีกรมประมงร่วมกับ Shrimp board แถลงแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทยให้มั่นคงในตลาดโลก ด้วยความร่วมมือร่วมใจของภาครัฐ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเล ผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ในการเดินแผนสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน เพื่อดันผลผลิตกุ้งไทยให้ได้ปริมาณ 400,000 ตันภายในปี 2566

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ว่า จากการที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งทะเลและผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ได้จับมือร่วมกันเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ผลผลิต 400,000 ตัน ในปี 2566 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโช่การผลิตกุ้งทะเลและ ผลิตภัณฑ์ หรือ Shrimp board (คลิกอ่าน) ซึ่งประกอบด้วยภาครัฐ ได้แก่ กรมประมง และกรมการค้าภายใน ผู้แทนผู้ประกอบการแปรรูปและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้แทนเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล รวม 21 คน

 

ตั้งบอร์ด Shrimp board

 

ร่วมกันวางแผนเพื่อบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้ การดำเนินงานต้องสร้างความมั่งคงด้านการตลาดตามนโยบายการตลาดนำการผลิตของรัฐบาล ซึ่งภายใต้ข้อตกลงร่วมกันของ Shrimp Board ได้มีการดำเนินการรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งขาวแวนนาไม โดยมีระยะเวลาการดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564ถึง 31 ธันวาคม 2565 ทำให้ราคาจำหน่ายกุ้งขาวฯ เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นตันมา

 

 

พันธกิจที่สำคัญ คือ กรมประมงจัดทำแผนการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล โดยในปี 2565 มีเป้าหมาย320,000 ตัน และ ปี 2566 มีเป้าหมาย 400,000 ตัน ภายใต้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลของประเทศไทย 11 แนวทาง โดยมีแนวทางหลัก ดังนี้ การบริหารเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ ผ่านกลไกคณะทำงานแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งทะเล ระดับพื้นที่ 35  จังหวัด การแก้ไขปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล ซึ่งเป็นปัญหาหลักและเป็นต้นทุนแฝงของการเลี้ยงกุ้ง มีการจัดคลินิกเคลื่อนที่ (Mobile cinic และสายด่วนปรึกษาปัญหาโรคสัตว์น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

 การจัดการการเลี้ยง มีการถอดบทเรียนและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีปราชญ์เลี้ยงกุ้งหรือฟาร์มเลี้ยงกุ้งต้นแบบในแต่ละพื้นที่ มีการสนับสนุนการใช้จุลินทรีย์และส่งเสริมให้ชมรมหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตจุลินทรีย์ ปม.  การปรับปรุงพันธุ์กุ้งทะเล กรมประมงได้พัฒนาพันธุ์กุ้งขาวฯ สายพันธุ์สิชล 1 ผลิตและจำหน่ายเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร การจัดหาแหล่งทุน โดยการจัดทำโครงการเสริมสภาพคล่องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี 2565 ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแหล่งสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยให้กับเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานข้างต้นมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย กรมประมงจึงกำหนดให้มีการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลเป็นประจำทุกเดือน

 

 

ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2565 ประเทศไทยมีผลผลิตกุ้งทะเลจากการเพาะเลี้ยงรวมทั้งสิ้น 138, 733.18 ตัน จำแนกเป็นกุ้งขาวแวนนาไม 129,100.44 ตัน (ร้อยละ 93.06) และกุ้งกุลาดำ 9,632.74 ตัน (ร้อยละ 6.94 โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค. - ก.ค. 64)ผลผลิตลดลงร้อยละ 3.09 ซึ่งถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีนโยบายในการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเล และลงพื้นที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรอย่างใกล้ชิด แต่การขาดความเชื่อมั่นด้านราคาเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรไม่ปล่อยกุ้งลงเลี้ยงอย่างเต็มศักยภาพ ทำให้ผลผลิตกุ้งทะเลในภาพรวมลดลง

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

ดังนั้น เพื่อรักษาตลาดและผู้ประกอบการส่งออกสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ Shrimp Board จึงมีข้อตกลงร่วมกันในการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากต่างประเทศเฉพาะช่วงเวลาและปริมาณผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณน้อย ภายใต้เงื่อนไขที่ห้องเย็นและโรงงานแปรรูปจะรับซื้อผลผลิตกุ้งทะเลจากเกษตรกรโดยประกันราคาซื้อ - ขายขั้นต่ำ (คลิกอ่าน)เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาของกุ้งทะเลภายในประเทศไว้ โดยเริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ส่งผลให้ราคากุ้งทะเลภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผลการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลไม่ประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

โดยในปี 2565 Shrimp Board กำหนดแผนการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย ปริมาณรวม 10,501 ตัน ทั้งนี้ ตั้งแต่มีการอนุญาตให้นำเข้าฯ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565จนถึงเดือนกรกฎาคม 2565 มีการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐเอกวาดอร์ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 41.95 ตันคิดเป็นมูลค่า 10.24 ล้านบาท แต่ยังไม่พบการนำเข้ากุ้งขาวฯ จากสาธารณรัฐอินเดียถึงแม้ว่ากรมประมงจะมีการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดียแต่กรมประมงให้ความสำคัญกับการควบคุมโรค โดยดำเนินการอย่างรัดกุมก่อนการอนุญาตให้นำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐเอกวาดอร์และสาธารณรัฐอินเดีย

 

 

โดยได้ประเมินระบบการควบคุมโรคของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมีข้อกำหนดในการพิจารณาหลายมิติครอบคลุมทั้งห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลแช่แข็งสำหรับการส่งออกมายังประเทศไทยเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดนผ่านการนำเข้ากุ้งทะเลแช่แข็งอย่างเด็ดขาด ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด และเมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทย จะต้องถูกดำเนินการควบคุมโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 โดยสินค้าจะต้องเข้าสู่ระบบการกักกันเพื่อให้เจ้าหน้าที่กรมประมงดำเนินการสุ่มตรวจเชื้อก่อโรคกุ้งทะเลที่สำคัญ

 

ได้แก่ โรคไอเอ็มเอ็น (IMN) โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรคหัวเหลือง (YHD) โรคทีเอส (TS) โรคไอเอชเอชเอ็น (IHHN) โรคเอ็นเอชพี (NHP) และโรคดีไอวี่ วัน (DIV 1) ตามบัญชีรายชื่อของ OIE รวมทั้งมีการสุ่มตรวจสารตกค้าง เช่น Chloramphenicol Nitrofurans และ Malachite green ภายใต้พระราชบัญญัติอาหารพ.ศ. 2522 โดยการสุ่มตัวอย่างทั้งหมดสอดคล้องตามหลักการสากลตามที่ OIE และ CODEX กำหนดไว้ และหากมีการตรวจพบเชื้อก่อโรคและ/หรือตรวจพบสารตกค้างเกินเกณฑ์มาตรฐาน สินค้าเหล่านั้นจะถูกทำลายหรือตีกลับประเทศต้นทางทันที จึงมั่นใจได้ว่าสินค้ากุ้งทะเลที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้ามาในประเทศไทยนั้น ได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มงวดทั้งจากต้นทางและเมื่อถึงประเทศไทย อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อการส่งออกเท่านั้น

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

ด้านนายผณิศวร ชำนาญเวช นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย ได้กล่าวถึงเหตุผลและความจำเป็นในการที่สมาชิกสมาคมฯ ต้องมีการนำเข้าสินค้ามาผลิตและแปรรูปส่งออกเพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมกุ้งของไทยโดยรวม ดังนี้ สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปเพื่อส่งออก โดยรวมคือ ผู้ซื้อกุ้งรายใหญ่ของประเทศ ในช่วงที่ประเทศไทยมีผลผลิตปีละประมาณ 500,000 - 600,000 ตัน โรงงานแปรรูปจะซื้อกุ้งคิดเป็นร้อยละ 85 ของผลผลิตกุ้งทั้งหมด เหลือบริโภคในประเทศร้อยละ 15

 

 

ปัจจุบันเกษตรกรผลิตได้ 270,000 ตันโดยมีการห้ามนำเข้าตลอดมา โรงงานจำเป็นต้องปิดตัวลงเนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบ ในช่วงเวลาเดียวกันเกษตรกรในต่างประเทศมีการเลี้ยงกุ้งมากขึ้น ในสถานการณ์ปัจจุบัน เอกวาดอร์ อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเชีย ผลิตกุ้งได้รวมกันประมาณ 2,700,000 ตัน คือ สิบเท่าของประเทศไทย ทำให้ราคาอ้างอิงในตลาดโลกเปลี่ยนจาก "ราคามหาชัย" ไปเป็น ราคาเอกวาดอร์ และอินเดีย ที่เลี้ยงได้โดยต้นทุนต่ำกว่าไทย ลูกค้าใช้ราคาอ้างอิงนี้ในการเจรจาสั่งซื้อ ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างราคากุ้งในประเทศได้เหมือนเมื่อก่อน แม้มีลูกค้าที่สามารถจัดซื้อกุ้งวัตถุดิบมาส่งให้ไทยแปรรูปได้ในราคาต่ำกว่ากุ้งไทยก็จะติดขัดเรื่องการห้ามนำเข้า จึงย้ายไปสั่งซื้อจากแหล่งอื่น

 

 

🍎สรุปราคาประมูล/ซื้อ/ขาย/กุ้ง🍎
  ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ จากทั่วประเทศ
   @โดยเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย@
      🍓วันที่ 7 สิงหาคม 2565🍓

เขตพื้นที่ จ.ชุมพร
🦐24 ตัว กุ้งเป็น 338 บาท

เขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช
🍤61 ตัว กุ้งสด 172 บาท

#🍤 กุ้งสด  คือ กุ้งที่จับตายหน้าปากบ่อ 
#🦐 กุ้งเป็น คือ กุ้งที่จับเป็นไปโรงงาน
#ราคานี้เป็นการซื้อขายจริง 
#ตรวจสอบข้อมูลโดยชมรมต่าง ๆ

 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม ที่ขยายกิจกรรมแปรรูปโดยอาศัยวัตถุดิบกุ้งนำเข้าทั้งจากเอกวาตอร์และอินเดีย ขณะที่การเลี้ยงกุ้งในประเทศได้ผลผลิตสูงต่ำตามฤดูกาล แต่โรงงานจำเป็นต้องมีงานทำสม่ำเสมอไม่สามารถปรับเพิ่มหรือลดกำลังผลิตให้สอดคล้องกับผลผลิตกุ้งจากบ่อเลี้ยงได้ การนำเข้าจะสามารถช่วยให้โรงงานที่ยังเหลืออยู่มีงานทำต่อเนื่องลดต้นทุนการผลิตได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถซื้อกุ้งในประเทศได้ในราคาที่เกษตรกรไม่ขาดทุน เมื่อไทยสามารถซื้อกุ้งในตลาดโลกได้ จะช่วยพยุงราคาอ้างอิงไม่ให้ตกต่ำจนเกินไป ลดส่วนต่างระหว่างราคากุ้งในประเทศกับในตลาดโลกและส่งผลให้ซื้อกุ้งในประเทศได้มากขึ้นด้วย

 

 

🌐สรุปราคาประมูล/ซื้อ/ขาย/กุ้ง🌐
  ในเขตพื้นที่ต่าง ๆ จากทั่วประเทศ
   @โดยเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย@
      🧊วันที่ 6 สิงหาคม 2565🧊

เขตพื้นที่ จ.ชุมพร
🦐25 ตัว กุ้งเป็น 333 บาท

เขตพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี
🦐23 ตัว กุ้งเป็น 347 บาท

เขตพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช
🦐34 ตัว กุ้งเป็น 265 บาท
🍤44 ตัว กุ้งสด 206 บาท

เขตพื้นที่ จ.สงขลา
🍤60 ตัว กุ้งสด 172 บาท

เขตพื้นที่ จ.ปัตตานี
🍤65 ตัว กุ้งสด 173 บาท
🍤65 ตัว กุ้งสด 172 บาท

เขตพื้นที่ จ.สตูล
🦐31 ตัว กุ้งเป็น 285 บาท

เขตพื้นที่ จ.จันทบุรี
🍤40 ตัว กุ้งสด 200 บาท ◼️
🍤75 ตัว กุ้งสด 153 บาท

เขตพื้นที่ จ.ตราด
🍤57 ตัว กุ้งสด 175 บาท
🍤57 ตัว กุ้งสด 155 บาท ◼️

#🍤 กุ้งสด  คือ กุ้งที่จับตายหน้าปากบ่อ 
#🦐 กุ้งเป็น คือ กุ้งที่จับเป็นไปโรงงาน
#ราคานี้เป็นการซื้อขายจริง 
#ตรวจสอบข้อมูลโดยชมรมต่าง ๆ

 

สมาชิกสมาคมที่ยังเน้นการแปรรูปกุ้งเพื่อส่งออก ได้ทำงานร่วมกับเกษตรกรและกรมประมงในการศึกษาระดับความพอดีของปริมาณกุ้งนำเข้าที่จะไม่กระทบกับผลผลิตในประเทศ โดยเน้นการนำวัตถุดิบมาใช้ในช่วงที่กุ้งไทยมีผลผลิตต่ำ ตามฤดูกาล สมาชิกที่นำเข้ากุ้งมีพันธกรณีที่จะซื้อกุ้งในประเทศในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กุ้งที่นำเข้าต้องสอดคล้องกับมาตรการป้องกันโรคระบาดตามที่กรมประมงกำหนด ซึ่งผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบว่าจะไม่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคสู่บ่อเลี้ยงอย่างแน่นอน

 

โดยควบคุมตั้งแต่ต้นทาง คือเอกวาดอร์ และอินเดีย ตรวจเชื้อเมื่อเข้าถึงประเทศไทย และควบคุมให้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งหมด สมาชิกสมาคมฯทำตามมติของ Shrimp Board รับซื้อกุ้งในราคาตามที่ตกลงกันใน Shrimp Board กับตัวแทนเกษตรกร โดยมีกรมประมงเป็นองค์กรควบคุม รับซื้อมาตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน และจะขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้ราคากุ้งในประเทศมีเสถียรภาพ สร้างความเข้มแข็งทั้งในภาคผู้เลี้ยงและโรงงานแปรรูป ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นฟูและอยู่รอดได้ต่อไป

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตกุ้งทะเลของเกษตรกรไทย ว่า ปัจจุบันผลผลิตกุ้งทะเลของไทยอยู่ในปริมาณ 250,000 ถึง350,000 ตัน เท่านั้น ผลผลิตที่ได้ไม่แน่นอน ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมของเกษตรกรไม่เท่ากัน และมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ

 

ซึ่งจากข้อมูลของกรมประมงพบว่า มีเกษตรกรผู้ประกอบกิจการการเลี้ยงกุ้งทะเลประมาณ 30,000 กว่าราย โดยมีพื้นที่ประมาณ 600,000 กว่าไร่ ซึ่ง Shrimp Board ร่วมกันคิดเพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูผลผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 400,000 ตัน ในปี 2566 บรรลุเป้าหมาย โดยหลักการที่สำคัญ คือ เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้ตามศักยภาพของตัวเองในแต่ละพื้นที่

 

ผ่านกลไกการสร้างปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้รู้ในพื้นที่ โดยสรรหาผู้ที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ในภาวะวิกฤตหรือในภาวะที่เกษตรกรรายอื่นเลี้ยงกุ้งไม่ได้ มาเป็นผู้อธิบายและถอดบทเรียนให้เกษตรกรในจังหวัดหรือในพื้นที่ได้นำไปเป็นต้นแบบการเลี้ยงกุ้งให้ประสบความสำเร็จแนวทางนี้จะช่วยให้เกษตรกรมีทางเลือกที่หมาะสมในการนำไปปรับใช้กับความสามารถและศักยภาพของตัวเองได้

 

นอกจากนี้ กุ้งไทยที่ผลิตและส่งออกเป็นกุ้งไทยที่ สวย สด สะอาด ปราศจากสารตกค้าง และปลอดภัยกับผู้บริโภค โดยที่กุ้งไทยแต่ละตัว แต่ละการผลิต ที่ออกมาจากบ่อเลี้ยงกุ้ง มีมาตรฐาน ผ่านการรับรองจากกรมประมงทุกฟาร์มทุกบ่อ ซึ่งกรมประมงมีนโยบายการสร้างภาพลักษณ์กุ้งไทยสู่ตลาดโลก

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

นายครรชิต เหมะรักษ์ นายกสมาคมเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวถึง ความร่วมมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปผ่านกลไก Shrimp Board ว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลประสบปัญหาทั้งด้านราคาตกต่ำและต้นทุนการผลิตที่สูง ส่งผลให้ประสบปัญหาภาวะขาดทุน แรงจูงใจที่สำคัญของเกษตรกรในการประกอบอาชีพการเลี้ยงกุ้งทะเล คือ ปัจจัยด้านราคา ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา เกษตรกรต้องแก้ไขปัญหาด้านราคาตกต่ำด้วยวิธีการของตนเอง ผ่านกลไกการร้องขอจากรัฐบาล ซึ่งการจัดตั้ง Shrimp Board นครั้งนี้ เป็นการจับมือของเกษตรกรและผู้แปรรูปเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ของอุตสาหกรรมกุ้งทะเลไทย เป็นความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการผลผลิตกุ้งทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างแท้จริง

 

ทั้งด้านการผลิตและการตลาด ผลลัพธ์ที่ได้ คือทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลและผู้แปรรูปสามารถประกอบอาชีพในห่วงโชได้อย่างยั่งยืนการผลักดันให้อุตสาหกรรมกุ้งไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ ผลผลิตต้องเพียงพอเพื่อสามารถต่อรองในตลาดโลกได้ จากการหารือร่วมกันใน Shrimp Board การนำเข้ากุ้งขาวฯ เพื่อมาทดแทนในช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศมีปริมาณลดน้อยลงเพื่อรักษาตลาดมีความจำเป็น

 

“Shrimp Board” แถลง นำเข้ากุ้งทะเลจากอินเดีย-เอกวาดอร์  ไม่ทุบราคาในประเทศ

 

ล่าสุด เรื่องความคืบหน้าโครงการเสริมสภาพคล่องแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเล ปี2565 ระยะที่1 ของกรมประมง จำนวน 510 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกองทุนฯได้พิจารณาอนุมัติไว้แล้วนั้นซึ่งแยกเป็น 2 ส่วนได้แก่  1.เป็นเงินให้เกษตรกรกู้ยืม ปลอดดอกเบี้ย จำนวน 500 ล้านบาท (เกษตรกร 1,000รายๆละไม่เกิน 500,000 บาท เพื่อซื้อลูกพันธุ์กุ้งและอาหารกุ้ง ระยะเวลา 2 ปี )

 

2. เป็นเงินจ่ายขาดเพื่อใช้บริหารจัดการโครงการฯจำนวน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ฝ่ายเลขานุการกองทุนฯคาดว่าคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะประชุมเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบโครงการฯในวันอังคารที่ 9 สิงหาคม 2565 นี้ และหลังจากนั้นจะแจ้งต่อกรมประมงดำเนินการโครงการฯเบิกจ่ายเงินให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งกู้ยืมต่อไป

 

นายครรชิต กล่าวอีกว่า  ในวันที่ 10 สิงหาคม 2565 กระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้มีการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจพิจารณาแนวทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งไทยหลังวิกฤติโควิดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ทางเครือข่าย เตรียมดัน "โครงการอาหารกุ้งทะเลธงเขียวเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลสำหรับบริโภคภายในประเทศปี 2565" โดยมีเป้าหมายเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ 2,000 ราย

 

 

โดยแบ่งเป็น กิจกรรมที่ 1 สมทบเงินค่าอาหารกุ้ง กิโลกรัมละ 2 บาท ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทะเลที่จ้างผลิตอาหารจากโรงงานโดยใช้เงินทุนของเกษตรกรเอง รายละไม่เกิน 25 ตันต่อปี หรือคิดเป็นเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาทต่อปี และไม่เกิน 100,000 บาท ต่อระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 1,000 ราย

 

กิจกรรมที่ 2 สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ผู้เลี้ยงกุ้งทะเลเพื่อนำเงินกู้ยืมไปจ้างผลิตอาหารกุ้งทะเลวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1,000,000 บาท ระยะเวลาโครงการ 2 ปี กำหนดชำระคืนหนี้เงินกู้ไม่เกิน 12 เดือน หากเกษตรกรไม่สามารถชำระคืนหนี้เงินกู้ได้ตามกำหนดจะไม่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อในปีต่อไปและรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารแทนเกษตรกรในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี โดยมีเกษตรกรเป้าหมาย 1,000 ราย กรมประมงจะขอสนับสนุนเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ในวงเงินไม่เกิน 164.8 ล้านบาท 

 

 

อย่างไรก็ดี อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงมั่นใจว่าภายใต้การทำงานของ Shrimp Boardและทุกภาคส่วน จะทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมกุ้งไทย สามารถบรรลุเป้าหมายผลิตกุ้งทะเลให้ได้ 4 แสนตัน ในปี 2566และมั่นใจว่าการนำเข้ากุ้งทะเลจากสาธารณรัฐอินเดีย และสาธารณรัฐเอกวาดอร์ ไม่กระทบผลผลิตและราคาในประเทศรวมทั้งขอให้มั่นใจว่ากรมประมงมีมาตรการที่รัดกุมในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคข้ามพรมแดน และท้ายที่สุดกรมประมงจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่จะร่วมกันฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน เพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเป็นผู้นำการส่งออกกุ้งทะเลในตลาดโลกอีกครั้ง