ไทยยูเนี่ยนทุบสถิติ ยอดขาย Q2 พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน 3 กลุ่มสินค้าหลักโตยกแผง

08 ส.ค. 2565 | 06:37 น.

ไทยยูเนี่ยนทุบสถิติ ยอดขาย Q2 พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน “ทูน่า-อาหารทะเลแช่แข็ง-อาหารสัตว์เลี้ยง”โตยกแผง ครึ่งปียอดขายรวม 7.5 หมื่นล้าน ขยายตัวกว่า 12% ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.40 บาทต่อหุ้น

 

รายงานข่าวจาก บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  หรือ TU รายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 2/2565 ว่า ทำยอดขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมียอดขาย 38,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วย โดยมีปัจจัยหลักจากความต้องการสินค้าและราคาขายที่เพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ยังกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติประจำไตรมาสก่อนหักรายการพิเศษที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมของหุ้นบุริมสิทธิ์ใน เรด ล็อบสเตอร์ สืบเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นจำนวน 424 ล้านบาท และ ค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างโรงงาน รูเก้น ฟิช ในประเทศเยอรมันจำนวน 195 ล้านบาท  อยู่ที่ 2,243 ล้านบาท ลดลง 8.4%เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

 

ไทยยูเนี่ยนทุบสถิติ ยอดขาย Q2 พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน 3 กลุ่มสินค้าหลักโตยกแผง

 

สำหรับยอดขายที่ดีของไทยยูเนี่ยนในไตรมาสที่ผ่านมา สะท้อนถึงกลยุทธ์ของบริษัทที่เน้นการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้เกิดสมดุลระหว่างหน่วยธุรกิจหลักทั้ง 3 ธุรกิจ โดยธุรกิจอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง มียอดขายเติบโตขึ้น 10.7%  อยู่ที่ 16,912 ล้านบาท จากปัจจัยของราคาที่สูงขึ้น บวกกับการอ่อนตัวของค่าเงินบาท และความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น

 

ส่วนธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งและแช่เย็น มียอดขายปรับตัวลดลง 6.5% อยู่ที่ 13,900 ล้านบาท จากธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวสู่สภาวะปกติ หลังจากฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2564   สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า ยังคงทำผลงานได้ดีเยี่ยม โดยยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 41.7% อยู่ที่ 8,133 ล้านบาท จากความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงที่สูงขึ้นมาก การปรับตัวขึ้นของราคาสินค้า และยอดขายผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น

 

สำหรับผลประกอบการในครึ่งปีแรก  ยอดขายอยู่ที่ 75,217 ล้านบาท   โดยกำไรสุทธิจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 3,911 ล้านบาท ลดลง 12.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ไทยยูเนี่ยนยังประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลที่ 0.40 บาทต่อหุ้น

 

ไทยยูเนี่ยนทุบสถิติ ยอดขาย Q2 พุ่ง 3.8 หมื่นล้าน 3 กลุ่มสินค้าหลักโตยกแผง

 

 

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากธุรกิจของไทยยูเนี่ยนที่มีความหลากหลาย ทำให้เป็นพื้นฐานที่มั่นคงในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 ของบริษัทยังคงทำผลงานได้ดีแม้จะมีรายการพิเศษสองรายการ  นอกจากนี้ ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องของสุขภาพและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ทำให้ไทยยูเนี่ยนซึ่งมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาจากศูนย์นวัตกรรมของบริษัท ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นด้วยแบรนด์ต่าง ๆ ของทางกลุ่มที่มีวางจำหน่ายอยู่ทั่วโลก

 

ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องกับธุรกิจที่ให้ผลกำไรในอัตราที่สูง โดยในไตรมาส 2 บริษัทได้ประกาศลงทุน 10 ล้านดอลลาร์แคนาดา ในบริษัท มาร่า รีนิวเอเบิลส์ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตส่วนประกอบอาหารจากสาหร่ายไมโครแอลจีด้วยนวัตกรรมที่โดดเด่นเฉพาะตัว  นอกจากนี้บริษัทยังเดินหน้าก่อสร้างโรงงานโปรตีนไฮโดรไลเสตและคอลลาเจน เปปไทด์ รวมถึงโรงงานผลิตอาหารพร้อมรับประทาน ซึ่งมีแผนแล้วเสร็จในปี 2566

 

ในส่วนของการทำงานด้านความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยนได้ตีพิมพ์รายงานความยั่งยืนประจำปี ฉบับที่ 9 โดยมีเนื้อหาเชิงลึกเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของบริษัทที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารทะเลของโลก และมีแผนจะมีการปรับกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน SeaChange® ครั้งใหญ่ภายในปีนี้ ซึ่งจะรวมถึงการตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยอิงหลักวิทยาศาสตร์ (Science Based Targets) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

ธีรพงศ์  จันศิริ

 

นอกจากนี้ ไทยยูเนี่ยนยังได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องมหาสมุทร ณ เมืองกัสไกส์ ประเทศโปรตุเกส  และลงนามในUN Global Compact Sustainable Ocean Principles หรือหลักการมหาสมุทรที่ยั่งยืนโดยข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ ร่วมกับบริษัทเอกชน 150 แห่ง เพื่อแสดงความมุ่งมั่นในการดูแลมหาสมุทรให้อุดมสมบูรณ์

 

“ไทยยูเนี่ยนยังทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและการเงินปี 2568 ได้ตรงตามเป้า  โดยเราตระหนักดีว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในหลาย ๆ ประเทศ อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น และอุปสรรคในห่วงโซ่อุปทาน  ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารต้นทุนให้ได้ประสิทธิภาพ พัฒนาธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง และสร้างการดำเนินงานที่เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ” นายธีรพงศ์ กล่าว