“คีรี” ซัดภาครัฐ เร่งเคลียร์สัญญา “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” ล้างหนี้ 4 หมื่นล.

02 ส.ค. 2565 | 09:15 น.

“คีรี” ซัดภาครัฐเปิด “สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว” ทำได้ หลังเคทียืนหนึ่งในผู้ถือหุ้น เผยสัญญาควรเคารพสิทธิ์กันและกัน ยันบีทีเอสไม่ใช่จำเลย พร้อมหาทางออกร่วมกทม.เคลียร์หนี้ 4 หมื่นล้านบาท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว ว่า การเปิดสัญญาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทฯ สามารถเปิดให้ดูได้อยู่แล้ว เพราะเคทีเป็นผู้ถือหุ้นของสัญญานั้น และผู้ถือหุ้นสามารถรับรู้ได้ทุกอย่าง เพียงแต่ว่าทุกๆ สัญญาเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้วในเรื่องของการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เป็นหุ้นส่วนของเคที แต่กทม.ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับ บริษัทฯ แต่ก็มีสิทธิ์ในการขอให้เปิดสัญญาดังกล่าวได้ และเชื่อว่ากทม.ก็รู้รายละเอียดสัญญาอยู่แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่ปล่อยให้เคทีมาเซ็นสัญญาดังกล่าวกับบริษัทฯ เป็นแน่  

 

 

"ผมขอย้ำว่าบีทีเอสไม่ได้เป็นจำเลย แต่เป็นเจ้าหนี้ และพร้อมที่จะคุยกับกทม. เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้าต่อไปได้ และสร้างกำลังใจให้ภาคเอกชน" 
 

นายคีรี กล่าวว่า ส่วนเรื่องหนี้สินที่เคทีมีต่อบริษัทฯ นั้น ปัจจุบันเกิน 4 หมื่นล้านบาท แล้ว โดยแบ่งเป็น ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และค่าระบบจ้างเดินรถ ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเคทีได้มีการเรียกบีทีเอสเข้าพบ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อทำให้ปัญหาต่างๆ ดีขึ้น แต่ยังไม่ได้หารือถึงเรื่องภาระหนี้สิน เพราะให้เวลาผู้ว่ากทม.คนใหม่ ศึกษาเรื่องนี้ ซึ่งเข้ามารับตำแหน่ง 2-3 เดือนแล้ว และเชื่อว่าข้อมูลที่บริษัทฯ ให้ไป คงไม่มีอะไรไม่ถูกต้อง เพราะหากมีทางกทม. คงเรียกผมเข้าไปคุยแล้ว 

นายคีรี กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ประชาชนมีความกังวลว่าหากบีทีเอสไม่ได้รับการจ่ายหนี้อาจต้องหยุดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นั้น มองว่าประชาชนอาจไม่ได้กังวล เท่าบริษัทฯ ในเรื่องของการชำระหนี้ เราจึงอยากให้เร่งดำเนินการเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นใจของภาคเอกชน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และจะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

 

 

"รัฐบาลต้องห่วงภาพพจน์ของประเทศ ไทยเสียไปกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ใช้เวลามาดูเรื่องนี้ 3 ปีแล้ว บีทีเอสก็ยังเดินรถในช่วงสถานีหมอชิต-คูคต อยู่ ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องหยุดเดินรถ เพราะหยุดก็ทำให้ประชาชนลำบาก หรือถ้าให้หยุดเพื่อให้รัฐบาลเข้าใจ เชื่อว่าเรื่องนี้รัฐบาลเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีบางคนทำเป็นไม่เข้าใจก็ช่วยไม่ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งบีทีเอสซี ไปต่อไปไม่ได้ก็อาจต้องพิจารณาอีกครั้งต่อไป และยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายขอต่อสัมปทานเพื่อจะล้างหนี้ เป็นไปไม่ได้ และไม่อยากให้ประชาชนเข้าในบีทีเอสผิด"