"ชัชชาติ"จ่อเคาะค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นหนี้พอกกทม.

24 ก.ค. 2565 | 09:13 น.

"ชัชชาติ”เผยอีก 1-2 สัปดาห์ เคาะราคาค่าโดยสารส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยันต้องจัดเก็บ แต่อยู่ระหว่างพิจารณาไม่ให้ตลอดทั้งสายเกินราคาเดิมที่ 59บาท เขื่อไม่เกิดดราม่า เพราะทุกอย่างอยู่บนข้อเท็จจริง และต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ

วันนี้(24 ก.ค.65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงการหารือระหว่างบอร์ดบริษัทกรุงเทพธนาคม (KT) และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด หรือ BTSC เกี่ยวกับประเด็นรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเรื่องสัทปทาน และการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย


โดยระบุว่า การหารือครั้งล่าสุด ก็ได้ข้อสรุประดับหนึ่ง ในส่วนของกรุงเทพมหานคร(กทม.) จะต้องดู 2 เรื่อง คือ เรื่องแรกความสัมพันธ์ระหว่าง กทม.และ KT เป็นอย่างไร ที่สำคัญสุดจะดูว่าจะจัดการเรื่องหนี้อย่างไร จะจ่ายได้แค่ไหน สภา กทม.จะมองอย่างไร เพราะสุดท้ายสภา กทม.เป็นผู้อนุมัติแต่ตอนนี้สภายังติดพิจารณางบประมาณอยู่

ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องการคิดราคาส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ขณะนี้สำนักจราจรและขนส่ง ของกรุงเทพมหานคร อยู่ระหว่างทำเรื่อง เหลือการคำนวณและประกาศราคา แต่ต้องใช้เวลา เพราะต้องใช้เวลาให้ทาง BTSC เตรียมตัว 1 เดือน


ส่วนเรื่องระหว่าง KT กับ BTSC ต้องไปคุยกัน ส่วน KT กับ กทม.ต้องไปดูว่ามีความสัมพันธ์อย่างไร เพราะถ้า กทม.จะเอาเงินไปจ่ายให้ KT ก็ต้องมั่นใจว่าสัญญาถูกต้อง และได้รับการอนุมัติตามขั้นตอน 

ทั้งนี้ คาดว่าการกำหนดราคาส่วนต่อขยายส่วนที่ 2  ที่เรายังไม่ได้เก็บเงิน จะได้ความชัดเจนในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งราคาจะใช้ไปถึงปี 2572 ในส่วนนี้ต้องรีบ เพราะ กทม.เสียค่าจ้างเดินรถเดินรถปีละหลายพันล้านบาท แต่เราไม่ได้เก็บเงินเลย ทำให้เป็นหนี้สะสม 


ดังนั้น ต้องหารายได้เข้ามา แต่ต้องคิดอย่างละเอียดไม่อยากให้เป็นภาระพี่น้องประชาชน อย่างที่สภาองค์กรผู้บริโภคเรียกร้องไม่อยากให้เก็บเพิ่ม อยากให้เก็บที่ราคา 44 บาท (ราคาเดิมตลอดสาย) ซึ่งคิดแล้วจะกระทบต่อรายได้ของ กทม. ทำให้มีหนี้มากขึ้น ก็ต้องหากรอบที่ไม่เกินราคาเดิมที่เคยกำหนดไว้ 59 บาท จะคิดอย่างไร มีสูตรให้อยู่ น่าจะประกาศราคาได้ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้


ส่วนข้อกังวลว่าจะเกิดดราม่าหรือไม่ หากมีการจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย นายชัชชาติ ย้ำว่า ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจว่าเราให้นั่งฟรี แต่กทม.ต้องเสียค่าใช้จ่าย กลายเป็นว่าทุกคนในกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าโดยสารในส่วนนี้อยู่ ในแง่หนึ่งไม่เป็นธรรมเท่าไร ต้องคุยกันด้วยเหตุผล คงจะไม่มีดราม่า เพราะเป็นข้อเท็จจริง 

 

“และอีกอย่างคือ มันมีผลกระทบกับรถสาธารณะด้านล่าง ถ้าข้างบนวิ่งฟรีข้างล่างก็ทำมาหากินลำบาก แต่ละปีเป็นหนี้ 4-5 พันล้านบาท ซึ่งค่อนข้างหนัก ถ้าไม่เก็บเลยจะเป็นหนี้ไปเรื่อยๆ และกทม.จะไปดูรายได้จากโฆษณาด้วย จะเอามาจุนเจืออย่างไร แต่ทั้งหมดต้องเข้าสภา กทม.ก่อน เพราะส่วนต่างที่เหลือ ที่กทม.ต้องจ่ายโดยงบประมาณ สภา กทม.ต้องรับรู้ว่าเก็บราคาเท่านี้ แล้วจะมีส่วนต่างที่กทม.ต้องจ่ายเท่าไร เพราะสภาต้องพิจารณางบประมาณไปจ่าย” ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ