“เมียนมา”ระงับชำระหนี้  “พาณิชย์”ยัน การค้าไทยไม่กระทบ

19 ก.ค. 2565 | 03:18 น.

“เมียนมา”ระงับชำระหนี้  การค้าไทยในเมียนมายังไม่กระทบ“พาณิชย์” ผลักดันขายสินค้าไทยในกรุงย่างกุ้ง ประสบความสำเร็จตามเป้า เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส ครีมบำรุงผิว รองเท้าแตะสุดฮอต  5 เดือนไทยมีมูลค่าการค้ากับเมียนมาขยายตัว 21.78% ทั้งปีคาดโต 4%

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยกรณีธนาคารกลางเมียนมา (CBM : Central Bank of Myanmar) มีคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อย ระงับการจ่ายหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง ว่า การค้าขายระหว่างไทยและเมียนมายังคงเดินหน้าต่อ แต่เป็นการค้าขายโดยใช้เงินบาทในการชำระสินค้า

สำหรับเป้าหมายการค้าส่งออกไปตลาดเมียนมาปีนี้ตั้งไว้ที่ 4%   โดย 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.)ไทยมีมูลค้าการค้ากับเมียนมารวมที่ 3,589 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.78% แบ่งเป็นการส่งออก 2,078 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.14% และการนำเข้า มีมูลค่า 1,511 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 22.68%

กรมฯได้รับรายงานจากทูตพาณิชย์สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงย่างกุ้ง เมียนมา ถึงผลการจัดงานแสดงสินค้าเพื่อส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าไทยในเมียนมาเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดเมียนมาได้เพิ่มขึ้นมีผู้เข้าชมงานกว่า 18,000 คน มีผลการเจรจาสั่งซื้อ

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)

 โดยเป็นมูลค่าการสั่งซื้อภายในงานทันทีประมาณ 8.3 ล้านบาท และคาดว่าจะมีการเจรจาสั่งซื้อภายใน 1 ปี ประมาณ 105 ล้านบาท และสินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว เครื่องปรุงรส ซอส ผงปรุงรส ผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว และรองเท้าแตะยางแบบสวม เป็นต้น

 

“เมียนมา”ระงับชำระหนี้   “พาณิชย์”ยัน การค้าไทยไม่กระทบ

ทั้งนี้มีผู้นำเข้าสินค้าไทยที่สมัครผ่านสำนักงานฯ ที่ย่างกุ้ง จำนวน 40 บริษัท 40 คูหา ประกอบด้วยกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 22 คูหา กลุ่มสินค้าเครื่องสำอางผลิตภัณฑ์ความงาม จำนวน 6 คูหา กลุ่มสินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ จำนวน 8 คูหา

“เมียนมา”ระงับชำระหนี้   “พาณิชย์”ยัน การค้าไทยไม่กระทบ

และกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ภายในบ้าน 4 คูหา และยังมีการเน้นผลักดันนโยบาย Soft Power ของไทย ได้แก่ นวดแผนไทยและสปา การสอนทำอาหารไทยและข้าวเหนียวมะม่วง และโปรโมตสินค้าผลไม้ไทย ได้แก่ มะม่วง มังคุด ส้ม เงาะ และลำไย เป็นต้น