ชงครม.เคาะกฎหมาย “เลมอน ลอว์” คุมขายสินค้า พบชำรุด ไม่ตรงปก

10 ก.ค. 2565 | 23:48 น.

สคบ. ชงครม. เคาะกฎหมาย “เลมอน ลอว์” เพื่อคุมการขายสินค้า พบชำรุด ไม่ตรงปก ลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า การตรวจสอบ เปิดทางผู้บริโภค ส่งซ่อม คืนสินค้าได้ รองรับโลกยุคใหม่กับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ ป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ สคบ. ได้จัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … หรือ เลมอน ลอว์ (Lemon Law) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับใหญ่ เพื่อควบคุมการขายสินค้าที่อาจเกิดความชำรุดบกพร่องเมื่อถึงมือผู้บริโภค เสร็จสิ้นแล้ว

 

ล่าสุดได้เสนอมายังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ หากไม่มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม จะนำเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อตรวจพิจารณา ก่อนจะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎร ตามขั้นตอนต่อไป

 

“ที่ผ่านมา สคบ. ได้เปิดประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว และได้นำมาปรับปรุง เอามารีวิวกันใหม่ ซึ่งตอนนี้ได้ส่งไปเพื่อนำเข้าครม.แล้ว” แหล่งข่าว ระบุ

 

สำหรับเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ สคบ. ระบุว่า เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของทรัพย์สิน ซึ่งขายตามสัญญาซื้อขายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การซื้อขายสินค้าตามปกติทั่วไปและเหมาะสมกับการซื้อขายสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน 

 

แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตสินค้า และมีขั้นตอนการผลิตที่สลับซับซ้อน ทำให้ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาส่งมอบสินค้า จึงสมควรกำหนดลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า

 

รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นเพื่อควบคุมและดูแลกรณีดังกล่าว

 

สคบ. ชงครม. เคาะกฎหมาย “เลมอน ลอว์” เพื่อคุมการขายสินค้า พบชำรุด ไม่ตรงปก

 

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย ได้กำหนดรายละเอียด เช่น ให้ผู้ขายต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่มีอยู่ในเวลาส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ขายจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม หากความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เว้นแต่ผู้ขายจะพิสูจน์ได้ว่าได้มีการแก้ไขข้อมูลของสินค้าแล้ว 

 

อีกทั้งในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า

ส่วนในกรณีที่ผู้ขายต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ผู้ซื้อมีสิทธิดังต่อไปนี้

  • เรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมสินค้า 
  • เรียกให้ผู้ขายเปลี่ยนสินค้า
  • ขอลดราคาสินค้า

 
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ขายปฏิเสธที่จะลดราคาสินค้า ซ่อมแซมสินค้า หรือเปลี่ยนสินค้า ให้ผู้ซื้อมีสิทธิ เลิกสัญญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยการแสดงเจตนาแก่ผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่มีสิทธิเลิกสัญญา

 

อีกทั้งในการเลิกสัญญา ให้ผู้ขายมีสิทธิคิดค่าเสื่อมสภาพอันเกิดจากการใช้สินค้านั้น ณ วันรับมอบสินค้าคืน โดยหักจากเงินที่ผู้ขายจะต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อ เป็นต้น

 

วิธีร้องเรียน ร้องทุกข์ สคบ. หากผู้บริโภคถูกหลอก ถูกโกง ถูกเอาเปรียบ

 

ขณะเดียวกันยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าในกรณี ดังต่อไปนี้ 

  • ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง แต่ถ้าผู้ขายปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้นหรือผู้ขายได้ให้การรับประกันแก่ผู้ซื้อ ผู้ขายยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น
  • ผู้ซื้อซื้อสินค้านั้นจากการขายทอดตลาด

 

อย่างไรก็ตามในการออกกฎหมายครั้งนี้ สคบ. ระบุว่า จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกฎหมายนี้หลาย ๆ ประเทศก็ผลักดันออกมาใช้แล้ว ซึ่งในส่วนของไทยเองก็พยายามเร่งผลักดันกฎหมายนี้เช่นกัน

 

ทั้งนี้เพื่อช่วยดูแลผู้บริโภค และสร้างมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ เช่น เวลาซื้อรถยนต์ หรือสินค้าผ่านออนไลน์ ต้องมีการรับประกันการซ่อม คืน หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมายต่อไป