ดันกฎหมายคุมขายสินค้า พบชำรุด-ไม่ตรงปก ไม่ซ่อม ไม่เปลี่ยน ไม่ลดราคาเจอโทษ

29 เม.ย. 2565 | 08:03 น.

สคบ.ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า หรือ Lemon Law คุมการขายสินค้า หากพบสินค้าชำรุด-ไม่ตรงปก ผู้ขายไม่ซ่อม ไม่เปลี่ยน ไม่ลดราคาเจอโทษหนัก เตรียมรับฟังความคิดเห็น ในเดือนพ.ค.นี้ ก่อนสรุปชงครม.

นายสุวิทย์ วิจิตรโสภา รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยในงานเสวนาวันคุ้มครองผู้บริโภคไทย วันนี้  ว่า สคบ. ได้ร่วมมือกับสภาองค์กรของผู้บริโภค หรือ สอบ. ผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … (Lemon Law)

 

โดยในเดือนพ.ค.นี้ จะเปิดรับฟังความคิดเห็น ก่อนดำเนินการตามขั้นตอน ทั้งการเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณา ก่อนนำเข้าสู่การประชุมรัฐสภาต่อไป

 

สำหรับเหตุผลของการออกกฎหมายฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดว่า เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องของทรัพย์สินซึ่งขายตามสัญญาซื้อขายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่การซื้อขายสินค้าตามปกติทั่วไปและเหมาะสมกับการซื้อขายสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อน 

 

แต่ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตสินค้า และมีขั้นตอนการผลิตที่สลับซับซ้อน ทำให้ผู้บริโภคไม่อาจพบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าได้ในเวลาส่งมอบสินค้า สมควรกำหนดลักษณะของความชำรุดบกพร่องของสินค้า

 

รวมทั้งสิทธิของผู้ซื้อสินค้าเมื่อเกิดความชำรุดบกพร่อง และความรับผิดของผู้ขายสินค้าในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย ซึ่งเดิมได้มีการจัดทำเป็นร่าง และกำหนดรายละเอียดไว้ เช่น กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่มีอยู่ในเวลาส่งมอบสินค้า ไม่ว่าผู้ขายจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม หากความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นเป็นเหตุให้เสื่อมราคา เว้นแต่ผู้ขายจะพิสูจน์ได้ว่าได้มีการแก้ไขข้อมูลของสินค้าแล้ว 

 

อีกทั้งในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 6 เดือนนับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า 

 

ส่วนในกรณีที่ผู้ขายต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ผู้ซื้อมีสิทธิดังต่อไปนี้

  • เรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมสินค้า 
  • เรียกให้ผู้ขายเปลี่ยนสินค้า
  • ขอลดราคาสินค้า

 

ถ้าผู้ขายปฏิเสธที่จะลดราคาสินค้า ซ่อมแซมสินค้า หรือเปลี่ยนสินค้า ให้ผู้ซื้อมีสิทธิ เลิกสัญญาตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ โดยการเลิกสัญญาเช่นนั้นย่อมทำด้วยการแสดงเจตนาแก่ผู้ขายเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 6 เดือน นับแต่วันที่มีสิทธิเลิกสัญญา

 

อีกทั้งในการเลิกสัญญา ให้ผู้ขายมีสิทธิคิดค่าเสื่อมสภาพอันเกิดจากการใช้สินค้านั้น ณ วันรับมอบสินค้าคืน โดยหักจากเงินที่ผู้ขายจะต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังกำหนดเกี่ยวกับผู้ขายไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าในกรณี ดังต่อไปนี้ 

  1. ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง แต่ถ้าผู้ขายปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้นหรือผู้ขายได้ให้การรับประกันแก่ผู้ซื้อ ผู้ขายยังคงต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้น
  2. ผู้ซื้อซื้อสินค้านั้นจากการขายทอดตลาด

 

แหล่งข่าวจาก สคบ. กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การดำเนินการดังกล่าว จะช่วยให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกฎหมายนี้หลาย ๆ ประเทศก็ผลักดันออกมาใช้แล้ว ซึ่งในส่วนของไทยเองก็พยายามเร่งผลักดันกฎหมายนี้เช่นกัน

 

โดยหวังว่าจะออกมามีผลบังคับใช้ให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยดูแลผู้บริโภค และสร้างมาตรฐานในการประกอบธุรกิจ เช่น เวลาซื้อรถยนต์ หรือสินค้าผ่านออนไลน์ ต้องมีการรับประกันการซ่อม คืน หากไม่ดำเนินการจะมีโทษตามกฎหมายต่อไป