TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

28 มิ.ย. 2565 | 10:33 น.

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ระดมกูรูถกเตรียมความพร้อมองค์กรทุกมิติ สู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด ยุคลูกค้าเป็นใหญ่

 

รายงานข่าว (28 มิ.ย.65) เผยว่า สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) ได้ระดมเหล่าผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในองค์กรระดับประเทศร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการองค์กร เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูองค์กรหลังวิกฤติโควิด และเตรียมความพร้อมสู่อนาคต  โดยในปีนี้ทาง TMA ได้นำเสนองานภายใต้ธีม “Fit for Future” ซึ่งจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนกราวด์ และรูปแบบออนไลน์ พร้อมเดินหน้าสู่การเป็น Thought Partner ให้แก่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยเต็มตัว

 

นายจักรชัย บุญยะวัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Business of the Future” ว่า ในอดีตการทำธุรกิจคือธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ต้องการจะซื้อ แต่โลกที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังวิกฤติโควิดทำให้ผู้เกี่ยวข้องในโลกธุรกิจเกี่ยวข้องกับระดับมหภาคในหลายมิติ ทั้งในมิติ Planet (สิ่งแวดล้อม),  Product and Profit (ผลิตภัณฑ์ และกำไร) , และ People (คน / สังคม)

 

สำหรับประเด็น Planet ธุรกิจในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร ที่ผ่านมาจะเห็นถึงวิวัฒนาการในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ที่องค์กรได้ใช้กรอบความยั่งยืนในการขจัดความเสี่ยง ชูธงเป็นกลยุทธ์องค์กร และรวมถึงเป็น Purpose (วัตถุประสงค์) ของธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต 

 

ในประเด็น Product and Profit การดำเนินธุรกิจให้มีกำไรสำหรับโลกอนาคตจำเป็นต้องใช้โมเดลใหม่ทั้งในส่วน Operating Model และ Way of Work ซึ่งโควิด -19 ได้เปลี่ยนโลกจาก “การทำเหมือนเดิมได้เหมือนเดิม” เป็น “ทำเหมือนเดิมแล้วได้น้อยกว่าเดิม” เพราะจำนวนประชากรที่ลดน้อยลง และวิถีชีวิต วิธีคิด และพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นในฝั่งลูกค้าและพนักงาน ต้องมีวิถีการทำงานและการบริหารจัดการบุคลากรแบบใหม่ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจควรเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไรแก่ธุรกิจได้

 

TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

 

ส่วน People นายจักรชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ใช้เวลาเกินครึ่งในเรื่องนี้ ซึ่งคนเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน การดำเนินธุรกิจบนหลักการความยั่งยืนต้องแสดงถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีตามหลักการ ESG (ความยั่งยืน) โดยผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นได้คือ “คน” ในฐานะศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ความสำเร็จในการปรับไปสู่การเป็น  Business of the Future ได้ เริ่มต้นที่ “คน” ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องสร้าง Engagement และมีกลไกที่ทำให้องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ให้ได้

 

 

ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “To be Fit for the Future”  และการสัมมนาในหัวข้อ “Data is the Game Changer” และ “Addressing the Customer’s Pain Points” วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับคุณค่าของข้อมูลและแนวทางการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ

 

โดย นายอริยะ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ซีเอ็มโอ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า ในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล องค์กรควรตั้งต้นที่การทำความเข้าใจเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ รวมถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ บนเงื่อนไขว่าต้องมีจำนวนผู้ใช้งานเทคโนโลยีที่มากพอ เพราะในอุตสาหกรรมดิจิทัลรายได้ของธุรกิจไม่ได้มาจากผู้ใช้งาน แต่เป็นรายได้จากการโฆษณาและได้รับข้อมูลฐานลูกค้า

 

TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

 

โดยหัวใจหลักของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่เห็น และอาจเข้าใจผิวเผิน ดังนั้นจึงควรศึกษาเทคโนโลยีอย่างจริงจังในฐานะเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์เรื่องใดของธุรกิจกันแน่

 

ดร.สุรัตน์ วงศ์รัตนภัสสร ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ. ไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แนะนำให้องค์กรปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยใช้ทั้งประสบการณ์และข้อมูลประกอบกันในทุกขั้นตอนการตัดสินใจ

 

ส่วน ดร.กฤษณะ งามสม Head of Business, The 1, Central Group กล่าวว่า  การใช้ข้อมูลเพื่อเปลี่ยนธุรกิจควรเป็นทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่มาจากผู้บริหาร ซึ่งเห็นประโยชน์และความสำคัญ จึงเริ่มใช้งานโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเป็นตัวตั้ง เริ่มจากเรื่องที่ง่ายไปยากเพื่อให้บุคลากรตามได้ทัน และอาจให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

 

TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

 

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานกลุ่มบริหารการตลาด TMA ได้กล่าวสรุป ถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลว่า สามารถช่วยเพิ่มกำไร ลดต้นทุน และพัฒนาธุรกิจใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาดยุคใหม่ที่แนวคิดแบบเดิมที่มองลูกค้าทุกคนเหมือนกันใช้ไม่ได้อีกต่อไป

 

ขณะที่ นายวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of Service  Solution Business บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า การทำความเข้าใจ Pain Points ของลูกค้าเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็น Solutions ที่มาตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาของลูกค้า ทำให้ต้องมีกระบวนการทำ Empathy มิใช่แค่การสัมภาษณ์เพื่อถามข้อมูลจากลูกค้าเท่านั้น ซึ่งทีมพัฒนาจำเป็นต้องมี Mindset ที่ลูกค้าและผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางและเข้าใจ Open Innovation ที่องค์กรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จด้วยตัวเอง

 

TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

 

 ส่วน นายเชิดชัย บุญชูช่วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “Technology Disruption” ได้เปลี่ยนตลาดไปสู่ยุคที่ลูกค้าเป็นใหญ่ รูปแบบการแข่งขันทางการตลาดได้เปลี่ยนแปลงเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนจาก Consumer เป็น Prosumer ซึ่งนอกจากลูกค้าในฐานผู้บริโภคให้กลายเป็นผู้ผลิตได้เองด้วย  ทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปสู่รูปแบบเครือข่ายที่เกิดการพึ่งพาแบบ Ecosystem ที่ช่วยสร้างมูลค่าให้แก่พันธมิตรในเครือข่ายและเติบโตร่วมกัน จากการส่งมอบคุณค่าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า นอกจากการเปลี่ยนแปลงในฝั่งลูกค้าแล้ว ธุรกิจในอนาคตจะต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในด้านบุคลากรขององค์กรเอง

 

นางสาวกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทเอไอเอส และกลุ่มบริษัทอินทัช  นายเฑวินทร์ สมงาม Corporate HR Director เอสซีจี และ นายวริศร เผ่าวนิช กรรมการผู้จัดการ Techsauce Media ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการคนรุ่นใหม่และการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของคนต่างวัยในองค์กรไว้ว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น ได้มาถึงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด -19

 

TMA ระดมกูรูติวเข้มความพร้อมองค์กรสู่อนาคตหลังวิกฤติโควิด

 

อย่างไรก็ตาม จนเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น จึงได้กลายเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้ผู้คนต้องปรับตัว ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ปรับตัวได้สำเร็จ กลุ่มคนที่ตั้งรับไม่ทันและไม่ต้องการไปต่อ รวมทั้งคนที่ต้องการไปต่อแต่ไม่มีความสามารถมากพอ ซึ่ง Mindset ของผู้นำองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงวิธีคิดของ HR และการสื่อสารในองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการออกแบบและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะขององค์กรทั้งในสถานการณ์ขณะนี้และต่อไปในอนาคต โดยต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม