มัดรวมสิทธิประโยชน์"ประกันสังคม" ที่ผู้ประกันตนต้องรู้

24 มิ.ย. 2565 | 02:12 น.

เงินนำส่งเข้าประกันสังคมทุกเดือน ผู้ประกันตนได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง มัดรวมสิทธิในทุกกรณี เจ็บป่วย คลอดบุตร เงินสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ ทุพพลภาพและเสียชีวิต ที่ผู้ประกันตนต้องรู้ เพื่อใช้ประโยชน์จากเงินประกันสังคมได้อย่างคุ้มค่า

ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม  จำนวนผู้ประกันตน ล่าสุดเดือนพ.ค.65 มีทั้งสิ้น 23,947,417 คน  อย่างไรก็ดีเชื่อว่า ผู้ประกันตนหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า เงินที่ถูกหักสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน เราได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง  ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล รวบรวมสิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ทั้ง  7 กรณี ได้แก่ กรณีเจ็บป่วย  คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพลภาพ  เสียชีวิต  ชราภาพ และ ว่างงาน  มาดูกันว่า ผู้ประกันตนแต่ละมาตรา ( มาตรา 33, 39 และ 40 ) จะได้รับสิทธิประโยชน์เหมือน หรือแตกต่างกันอย่างไร 

 

เงินประกันสังคมคืออะไร?

 

เงินประกันสังคม หรือ “เงินสมทบกองทุนประกันสังคม” เป็นเงินที่นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเข้ากองทุนประกันสังคมทุกเดือน โดยรูปแบบการส่งเงินสมทบประกันสังคมในปัจจุบันสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบหลักๆ คือ
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33

 

คือ ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

 

การคำนวณเงินประกันสังคม  คำนวณจากค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับในแต่ละเดือน ขั้นต่ำสุดอยู่ที่ 1,650 บาท และสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท หรือหากคิดเป็นเงินสมทบรายเดือนจะมีขั้นต่ำที่ต้องจ่ายเดือนละ 83 บาท และสูงสุดเดือนละ 750 บาท
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 39

 

คือ ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่จ่ายเงินสมทบแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออกจากงาน รวมถึงต้องไม่เป็นผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีทุพพลภาพจากกองทุนประกันสังคม

 

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะต้องนำส่งเงินกองทุนเดือนละ 432 บาท โดยต้องส่งเงินสมทบให้ครบทุกเดือนต่อเนื่องกัน ซึ่งหากไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ภายในระยะเวลา 12 เดือน ก็จะถือว่าสิ้นสุดสภาพผู้ประกันตนตามมาตรานี้
 

ผู้ประกันตนตามมาตรา 40

 

คือ บุคคลทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบ โดยไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 หรือผู้ประกันตนมาตรา 39

 

สำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 40  การนำส่งเงินกองทุนมีด้วยกัน 3 ทางเลือก คือ จ่ายเงินสมทบเดือนละ 70 บาท, เดือนละ 100 บาท หรือเดือนละ  300 บาท โดยสิทธิประโยชน์ที่ได้จะแตกต่างกันไป

 

มัดรวมสิทธิประโยชน์"ประกันสังคม" ที่ผู้ประกันตนต้องรู้

 

จ่ายเงินประกันสังคมแล้วได้อะไรบ้าง?

 

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมแบ่งได้เป็น 7 กรณี คือ

 

 

1.สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยหรือประสบอันตราย
 

เงื่อนไข :  ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันรับบริการทางการแพทย์

 

-  ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ เมื่อเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิ หรือเครือข่ายของสถานพยาบาลนั้น


-  ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้างจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยได้รับครั้งละไม่เกิน 90 วันและปีละไม่เกิน 180 วัน เว้นแต่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วัน

 

กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน

 

-  เข้ารับการรักษาพยาบาลที่ใกล้เคียงได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องสำรองค่าใช้จ่าย ภายในระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

- สถานพยาบาลของรัฐ 

 

  • ผู้ป่วยนอก (OPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง
  • ผู้ป่วยใน (IPD) เบิกค่ารักษาพยาบาลได้ตามที่จ่ายจริง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ทั้งนี้ไม่นับรวมวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์

 

 

การเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน

 

ผู้ป่วยนอก

 

  • เบิกได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 1,000 บาท
  • เว้นแต่การรักษาด้วยการให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือด การฉีดสารต่อต้านพิษจากเชื้อบาดทะยัก การฉีดวัคซีนหรือเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเฉพาะเข็มแรก การตรวจอัลตร้าซาวด์กรณีที่มีภาวะฉุกเฉินเฉียบพลันในช่องท้อง การตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI การขูดมดลูกกรณีตกเลือดหลังคลอดหรือตกเลือดจากการแท้งบุตร ค่าฟื้นคืนชีพ และกรณีที่มีการสังเกตอาการในห้องสังเกตอาการตั้งแต่ 3 ชั่วโมงขึ้นไป เบิกได้เกิน 1,000 บาทตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

ผู้ป่วยใน

 

  • ค่ารักษาพยาบาล กรณีที่ไม่ได้รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 2,000 บาท
  • ค่าห้องและค่าอาหารรวมกันไม่เกินวันละ 700 บาท
  • ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่ารักษาพยาบาล กรณีที่รักษาในห้อง ICU เบิกได้ไม่เกินวันละ 4,500 บาท
  • กรณีที่มีความจำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ เบิกได้ไม่เกินครั้งละ 8,000-16,000 บาทตามระยะเวลาการผ่าตัด
  • ค่าฟื้นคืนชีพ รวมค่ายาและอุปกรณ์ เบิกได้ไม่เกิน 4,000 บาท
  • ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการและหรือเอกซเรย์เบิกได้ในวงเงินไม่เกินรายละ 1,000 บาท
  • กรณีมีความจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยพิเศษ ได้แก่ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้องความถี่สูง การตรวจคลื่นสมอง การตรวจอัลตราซาวด์ เบิกได้ตามจริง
  • การสวนเส้นเลือดหัวใจและเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจด้วยการฉีดสีการตรวจด้วย CT-SCAN หรือ MRI เบิกได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด

 

งานทันตกรรม

 

  • ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด ไม่เกิน 900 บาท
  • กรณีใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ฐานอคริลิก จะได้รับค่าบริการทางการแพทย์และค่าฟันเทียมเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นในวงเงินไม่เกิน 1,500 บาท ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทียม

 

2.สิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร

 

เงื่อนไข : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนวันคลอดบุตร 

 

ผู้ประกันตนหญิง

 

  • ได้รับค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง
  • รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ย 90 วัน ไม่เกิน 2ครั้ง

 

ผู้ประกันตนชาย

 

  • ได้รับเฉพาะค่าคลอดบุตรเหมาจ่าย จำนวน 15,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง 

 

ค่าฝากครรภ์

 

  • จำนวน 1,500 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง

 

3.สิทธิประโยชน์กรณีสงเคราะห์บุตร

 

เงื่อนไข : ผู้ประกันตนต้องนำส่งสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน

 

  • ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายเดือนละ 800 บาทต่อบุตรหนึ่งคน 
     

 

4.สิทธิประโยชน์กรณีทุพลภาพ (ไม่เนื่องจากการทำงาน)

 

เงื่อนไข : ผู้ประกันต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน

 

 - กรณีทุพพลภาพระดับความสูญเสียไม่รุนแรง (ประเมินการสูญเสียตั้งแต่ร้อยละ 35 ขึ้นไป แต่ไม่ถึงร้อยละ 50)

 

  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างรายวันตลอดระยะที่ไม่สามารถทำงานได้ ไม่เกิน 180 เดือน

 

- กรณีทุพลภาพระดับความสูญเสียรุนแรง (ประเมินการสูญเสีย ตั้งแต่ร้อยละ 50 ขึ้นไป )

 

  • ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ตลอดชีวิต
  • รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขอวรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  • รักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอก ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

 

5.สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพ

 

- เงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน )

 

  • ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ร้อยละ 20 ของค่าเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  • ถ้าจ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ให้ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพขึ้นอีกร้อยละ 1.5 ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน

 

- เงินบำเหน็จชราภาพ (จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน)

 

  • .จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบเฉพาะส่วนของผู้ประกันตน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเท่ากับจำนวนเงินสมทบที่ผู้ประกันตนและนายจ้างจ่ายสมทบ พร้อมผลประโยชน์ตอบแทน

 

-  กรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตาย หากผู้รับเงินฯ เสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ

 

  • ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จ เท่ากับ จำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนเสียชีวิต x จำนวนเดือนที่เหลือจนครบ 60 เดือน

 

6.สิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิต

 

เงื่อนไข : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย

 

- ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท และได้รับเงินสงเคราะห์กรณีเสียชีวิต ดังนี้

 

  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน
  • จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไป ได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน

 

7.สิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน

 

เงื่อนไข : ผู้ประกันตนต้องนำส่งเงินสมทบมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 6 เดือนภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน 

 

- กรณีถูกเลิกจ้าง

 

  • ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

 

- กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง

 

  • ได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน

 

หมายเหตุ  :  โดยหากใน 1 ปีปฏิทินมีการยื่นขอรับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงาน ทั้ง 2 กรณี ให้นับระยะเวลาการรับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานรวมกันไม่เกิน 180 วัน

 

ผู้ประกันตนต้องขึ้นทะเบียนและรายงานตัวกรณีว่างงาน ผ่านระบบ http://e-service.doe.go.th ภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างและรายงานตัวตามกำหนดนัดเพื่อมิให้เสียสิทธิในการับเงินทดแทน 


หมายเหตุ : ตามที่กล่าวข้างบน  ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะได้รับสิทธิทั้งหมด ผู้ประกันตนมาตรา 39 จะได้รับสิทธิทั้งหมดยกเว้นสิทธิกรณีว่างงาน

 

ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้


จ่ายเงินสมทบ 70 บาท/เดือน

 

  • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)

 

จ่ายเงินสมทบ 100 บาท/เดือน

 

  • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 30 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ไม่เกิน 15 ปี)
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 25,000 บาท (ได้รับเพิ่ม 8,000 บาท เมื่อจ่ายเงินสมทบครบ 60 เดือนก่อนเสียชีวิต)
  • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 50 บาท/เดือน (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน)

 

จ่ายเงินสมทบ 300 บาท/เดือน

 

  • กรณีประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วย รับเงินทดแทนการขาดรายได้สูงสุด 300 บาท/วัน (ไม่เกิน 90 วัน/ปี)
  • กรณีทุพพลภาพ รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 500-1,000 บาท/เดือน (ตลอดชีวิต)
  • กรณีเสียชีวิต ได้รับค่าทำศพ 50,000 บาท
  • กรณีชราภาพ รับบำเหน็จชราภาพ 150 บาท/เดือน กรณีจ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินเพิ่ม 10,000 บาท (ออมเพิ่มได้ 1,000 บาท/เดือน)
  • กรณีสงเคราะห์บุตร รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาท/คน/เดือน (ครั้งละไม่เกิน 2 คน)

 
เงินประกันสังคม ลดหย่อนภาษีได้

 

ประโยชน์อีกอย่างของเงินสมทบกองทุนประกันสังคมก็คือ เงินสมทบทุนส่วนนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 หรือมาตรา 40 โดยสามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้
   

 

 อ้างอิงข้อมูล :