ศบค. ผ่อนคลายตรวจ ATK ยกเว้น "ผู้ป่วยต้องสงสัย-รวมกลุ่มเกิน 2 พันคน"

17 มิ.ย. 2565 | 08:30 น.

ศบค. ผ่อนคลายมาตรการการรวมกลุ่ม ให้ตรวจ ATK กรณีเป็นผู้ป่วยต้องสงสัยมีอาการทางเดินหายใจ กรณีรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คนต้องแจ้ง คกก.โรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

17 มิถุนายน 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวภายหลังการที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ว่า สถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขติดเชื้อลดลงเรื่อย ๆ เน้นย้ำว่าถ้าศักยภาพสาธารณสุขไปได้ดีก็สามารถเปิดกิจการกิจกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนผู้ป่วยรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตยังมีทิศทางลดลง โดยเฉพาะใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้เสียชีวิต เส้นสถานการณ์จริงลดต่ำกว่าเส้นคาดการณ์สีเขียวที่ดีที่สุด

 

"ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 3 ระยะขาลง (Declining) ฉะนั้น 1 ก.ค.มีโอกาสเป็น Post Pandemic ระยะหลังการระบาด ก็ต้องขอให้ร่วมมือกันเหมือนเดิม โดยขณะนี้ 50 จังหวัดอยู่ในทิศทางลดลง มี 17 จังหวัดลดลงแล้วแต่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แก่ กทม. ภูเก็ต อุบลราชธานี ชัยนาท ตราด ยโสธร อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ สตูล ชลบุรี สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี สมุทรสาคร กระบี่ และพิจิตร จึงต้องให้มีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เป็นภาระในเรื่องการรักษา" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับมาตรการรวมกลุ่มให้ตรวจคัดกรอง ATK กรณีเป็นผู้ป่วยสงสัยที่มีอาการทางเดินหายใจ หากมีการรวมกลุ่มมากกว่า 2,000 คน ขอให้แจ้งทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อเฝ้าระวังการระบาด

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติปรับมาตรการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค. ยกเว้นการลงทะเบียนระบบ Thailand Pass ทั้งต่างชาติและคนไทยแต่จะต้องแสดงผลการฉีดวัคซีนโดยจะมีการสุ่มตรวจผู้เดินทาง หากไม่มีเอกสารใด ๆรับรองจะดำเนินการตรวจ Professional  ATK ที่สนามบิน จนกว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ทั้งนี้ จะยังคงระบบและเปลี่ยนหน้าที่ของ Thailand Pass สำหรับโควิดเพื่อให้ผู้เดินทางใช้แจ้งรายงานกรณีมีอาการสงสัยโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องรายงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ซึ่งครอบคลุมการผ่านแดนทางบกด้วย มี 39 จุดด่านผ่านแดนถาวร ส่วนเรื่องเงินประกันยกเลิกไม่ต้องกำหนดวงเงิน แต่ส่งเสริมให้ซื้อประกัน ไม่ให้เป็นภาระเมื่อเจ็บป่วยในไทย ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบประกาศได้ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้

สำหรับเรื่องดื่มสุราและสถานบันเทิงใช้เวลาในการพิจารณามากพอสมควร เพราะมีข้อเรียกร้องเปิดถึง 02.00 น. เมื่อไปดูกฎหมายแล้ว มีเชื่อมโยง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.สถานบริการ ซึ่งมีสถานบริการหลายประเภท กฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดสถานบริการ พ.ศ.2547 มีการกำหนดโซนนิ่ง เวลาเปิดปิดก็เหลื่อมกันสูงสุด คือ 01.00 น. แต่สถานที่เต้นรำ 02.00 น. และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2558 เรื่องเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงมอบให้ฝ่ายกฎหมาย เลขา สมช.ไปหาข้อสรุปมา

 

ขั้นตอน คือดูกฎหมายเก่าและมาผ่อนคลายอย่างไร ซึ่งต้องไปผ่านกระบวนการจัดการกฎหมายและเสนอ ครม. โดยนายกฯ ขอให้ทำให้เร็วที่สุด ถ้าให้เร็วคืออยากให้เกิดวันที่ 1 ก.ค. แต่ต้องขอเวลาฝ่ายต่างๆ ทำงานก่อน วันเวลาจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง เมื่อกฎหมายถูกรวบรวมและแก้ไขอย่างถูกต้อง" นพ.ทวีศิลป์กล่าว พร้อมระบุว่า เรามียอดติดเชื้อสูง คือ เม.ย. 64 และ ม.ค. 65 

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดีต้องคาดการณ์ไปข้างหน้าซึ่งหลังจากนี้จะบอกว่า หมดการระบาดก็ยังไม่เชิง ยังคาดการณ์ว่า อาจจะมีระลอกเล็กๆ เกิดขึ้นมาได้บ้าง เป็น Small Wave ซึ่งตรงนี้ขึ้นกับภูมิคุ้มกันป้องกันโรครวมถึงเข็มกระตุ้น และประชาชนช่วยกันสวมหน้ากาก แต่มีการร้องว่าอยากจะลดสวมหน้ากากลงบ้าง ก็อาจเป็นเหตุหนึ่งทำให้เกิดระบาดกลุ่มก้อนเล็กๆ ขึ้นมาได้ด้วย

 

นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยว่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รายงานผลการดำเนินงานเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจัก พบว่า ตั้งวันที่ 1-15 มิ.ย. นักท่องเที่ยวเข้ามา 348,699 คน เฉลี่ยวันละ 2 - 2.5 หมื่นคน โดยประเทศที่นักท่องเที่ยวเข้ามามากสุด คือ 1.มาเลเซีย 6.1 หมื่นคน 2.อินเดีย 5.1 หมื่นคน 3.สิงคโปร์ 3.1 หมื่นคน 4.เวียดนาม 1.8 หมื่นคน และ 5.สหรัฐอเมริกา 1.5 หมื่นคน ส่วนตั้งแต่ยกเลิก Test&Go จะเห้นว่าแนวโน้มนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น หากนับตั้งแต่ต้นปีที่เข้ามามากสุด คือ อินเดีย 1.69 แสนคน

 

"ส่วนไทยเที่ยวไทยมี 53.52 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 127% จังหวัดเป้าหมายที่ไปท่องเที่ยวมากสุด คือ กทม. ชลบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี เรามีรายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.48 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 149% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขอบคุณคนไทยเที่ยวไทย สร้างเม็ดเงิน 2.48 แสนล้านบาท มากกว่านักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งการผ่อนคลายที่จะเกิดขึ้น เช่น Thailand Pass อาจทำให้ขึ้นมาเป็นแสนล้านบาทโดยเร็ว" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขเสนอปรับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร จากเดิมที่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 46 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเขียว) 15 จังหวัด และพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) 20 จังหวัด ปรับมาเป็นพื้นที่สีเขียวทุกจังหวัดทั่วประเทศ สามารถมีกิจการกิจกรรมในการผ่อนคลายอย่างเต็มที่ แต่ต้องมาพร้อมมาตรการป้องกันควบคุมโรค

 

ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอเพื่อผ่อนคลายมาตรการป้องกันควบคุมโรคในประเทศ 8 มาตรการ ดังนี้

 

  • พื้นที่สถานการณ์ ให้ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์เป็นระดับเฝ้าระวัง (สีเขียว) ทั้งประเทศ และยกเลิกการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

 

  • มาตรการการใส่หน้ากากอนามัย ให้ปรับเป็นข้อแนะนำว่าควรสวมหน้ากาก และให้สวมหน้ากากตลอดเวลาเมื่ออยู่ในที่แออัด สถานที่ปิด หรือมีการอยู่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก

 

  • การบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ให้เปิดบริการได้ตามปกติโดยต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค รวมทั้งกฎหมาย กฎ หรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 

  • สถานประกอบการประเภทสถานบันเทิง ฯลฯ เปิดให้บริการและให้ผู้รับบริการดื่มแอลกอฮอล์ได้ โดยเปิดให้บริการตามกฎหมายเดิมกำหนด

 

  • การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ผ่อนคลายให้การดำเนินการเป็นไปตามปกติ

 

  • การคัดกรองอุณหภูมิ ไม่มีความจำเป็นต้องคัดกรองอุณหภูมิในอาคารสถานที่ (อาจให้มีการคัดกรองอุณหภูมิในสถานที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด)

 

  • การเว้นระยะห่าง แนะนำให้มีการเว้นระยะห่างตามความเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรค