ราคาน้ำมันวันนี้แพงเพราะอะไร ค่าการกลั่นในประเทศสูงเกินไปหรือไม่ เช็คเลย

12 มิ.ย. 2565 | 09:12 น.

ราคาน้ำมันวันนี้แพงเพราะอะไร ค่าการกลั่นในประเทศสูงเกินไปหรือไม่ เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ พรรคกล้ากางข้อมูลเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี

ราคาน้ำมันวันนี้แพงเพราะอะไร ค่าการกลั่นในประเทศสูงเกินไปหรือไม่ เป็นคำถามที่คาใจผู้บริโภคอย่างมาก เนื่องจากราคาจำหน่ายในปัจจุบันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งน้ำมันดีเซล และเบนซิน

 

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่พรรคกล้า หัวหน้าพรรคอย่างนายกรณ์ จาติกวณิช ได้ออกมาให้ข้อมูลโดยเปรียบเทียบว่า วันนี้ประชาชนเสมือนถูกปล้นจากค่าการกลั่นน้ำมัน  โดยประเทศไทยมีโรงกลั่นส่วนใหญ่จาก บมจ. ปตท. จำกัด หรือ ปตท. ซึ่งมีกระบวนการซื้อน้ำมันดิบจากต่างประเทศเข้ามาเข้าสู่กระบวนการกลั่น  

 

หลังจากนั้น เมื่อกลั่นเสร็จก็จะนำออกมาขาย  โดยบางส่วนจะขายในประเทศ  และบางส่วนจะถูกนำไปขายต่างประเทศ หรือส่งออก  เนื่องจากไทยมีการกลั่นน้ำมันที่มากเกินความต้องการในประเทศ  

 

ทั้งนี้  หากเปรียบเทียบราคาค่าการกลั่นน้ำมันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า 

 

  • วันที่ 10 มิ.ย. 63 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 8.10 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 8.99 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 88 สตางค์ต่อลิตร
  • วันที่ 10 มิ.ย. 64 ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 14.01 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 14.88 บาทต่อลิตร ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 87 สตางค์ต่อลิตร

 

  • วันที่ 10 มิ.ย. 65  ราคาน้ำมันดิบดูไบเมื่อเทียบเป็นราคาเงินบาทจะอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงกลั่นต้องซื้อมา ขณะที่เฉลี่ยราคาขายสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร  ต้นทุนการกลั่นอยู่ที่ 8.56 บาทต่อลิตร

 

"จากตัวเลขดังกล่าวถือว่าค่าการกลั่นเพิ่มขึ้น 10 เท่า ทั้งที่ต้นทุนการกลั่นไม่เปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสูงขึ้น  แต่ราคาขายก็สูงขึ้น แต่ส่วนต่างของกำไรของเหล่าโรงกลั่นไทยเพิ่มเกือบ 10 เท่า  ซึ่งเป็นภาระของประชาชน ภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นหนี้มากขนาดนี้ โดยปัจจุบันติดลบ 8.6 หมื่นล้าน  และไม่มีคำอธิบายว่าทำไมรัฐปล่อยให้มีการทำกำไรมากขนาดนี้  ขณะทีประชาชนเดือดร้อน"

 

ราคาน้ำมันวันนี้แพงเพราะอะไร ค่าการกลั่นในประเทศสูงเกินไปหรือไม่

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาว่าโรงกลั่นเป็นของใคร  จะมีทั้งที่เป็นของเอกชน และที่เป็นของต่างชาติ  โดยโรงกลั่นที่เป็นของไทย ก็คือ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่ง 70% ของกำลังกลั่น หรือกำลังการผลิตของไทยอยู่ที่ ปตท. รัฐบาลจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงให้มีการค้ากำไรในระดับที่เป็นธรรมได้เลยหรือ 

นอกจากนี้ ค่าการตลาดก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดต้นทุนราคาหน้าปั๊ม ในกรณีดังกล่าวนี้ ปตท. ยังแทรกแซงโดยตรงด้วยการประกาศกำหนดเพดานว่าค่าการตลาดต้องอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งทุกปั๊มของ ปตท. ต้องปฏิบัติตาม  ขณะที่เอกขนก็ต้องปฏิบัติตาม ไม่เช่นนั้นก็จะขายน้ำมันไม่ได้   

 

"กรณีค่าการตลาดรัฐยังสั่งได้  ทำไมค่าการกลั่นถึงปล่อยให้มีการปรับฐานกำไรถึง 10 เท่าช่วงที่ทุกคนเดือดร้อน"   

 

นายกรณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า เรามีข้อเสนอ 3 ข้อ ประกอบด้วย

 

  •  ควรกำหนดเพดานการกลั่น  โดยเฉพาะโรงกลั่นของ ปตท. ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ  ต้นทุนการกลั่นเท่าไหร่  เอามาถกกกัน ควรที่ผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ไาหร่เอามาถกกัน  แล้วกำหนดเพดานที่เหมาะสม  ว่าราคากลั่นไม่ควรมีกำไรมากเกินกว่าเท่าไหร่  และจะต้องกำหนดพื้นด้วย  เพื่อไม่ให้ขาดทุน  การดำเนินการแบบนี้เพื่อไม่ให้มีกำไรเกินควร  เหมือนสถานะ ณ ปัจจุบัน  ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน  หากย้อนกลับไปดูอดีตค่ากลั่น  ไม่เคยมีช่วงไหน  ที่ราคากลั่นห่างราคาน้ำมันดิบขนาดนี้

 

ราคาน้ำมันวันนี้แพงเพราะอะไร ค่าการกลั่นในประเทศสูงเกินไปหรือไม่

 

"ค่าการกลั่นเป็นตัวเลขที่ถูกสมมุติขึ้นมา ราคาน้ำมันดิบคือเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่พอกำหนดราคาขาย กลับไม่ได้เทียบกับต้นทุน แต่ไปเทียบกับราคาขายของประเทศสิงคโปร์  ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนการผลิต หรือต้นทุนการดำเนินการแต่อย่างใด  และในสถานการร์ปัจจุบันก็เป็นสาเหตุให้หนี้กองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท  และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าพลังงานของประชาชนสูงขึ้น"

 

  • เก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) เพราะถือว่ากำไรที่เกิดขึ้นเป็นกำไรที่ลาบลอยของผู้ประกอบการ  ไม่ได้มาจากการสร้างนวัตกรรม  แต่มาเพราะราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ปรับสูงขึ้น   ยังไม่นับรวมส่วนของสต็อกน้ำมันที่ซื้อมาในราคาถูก  แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากส่วนต่างอีก  

 

"การเก็บภาษีลาภลอยจะเป็นการนำกำไรที่ได้เกินควร  มาช่วยเหลือประชาชนในการชดเชยต่อไป  โดยพรรคกล้าได้มีการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาแล้ว และจะขอชื่อสนับสนุนเพื่อยื่นให้รัฐสภา  และรัฐบาลพิจารณาต่อไป"

 

  • จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน โดย 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินชดเชยราคาหน้าปั๊ม โดยเป็นช่วงเวลาที่คนไทยใช้น้ำมันมากขึ้น  หลังจากที่โควิดคลี่คลาย  โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลทุกประเภทมีการเพิ่มขึ้น 15%  ซึ่งเป็นประเภทที่มีการชดเชยมากที่สุด

 

"สถานการณ์ตอนนี้รัฐต้องพูดความจริง โดยคนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการช่วยประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง  จากเรื่องง่ายไปสู่เรื่องใหญ่ เช่น การประชุมสภาฯ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระดับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศต้องมีการปรับ  เพื่อให้ประหยัดพลังงาน  รวมถึงมาตรการชดเชย โดยให้เฉพาะผู้ที่เดือดร้อยจริง หรือผู้ที่มีความจำเป็น  ซึ่งจะต้องทบทวนมาตรการการเหวี่ยงแหด้วยการปรับลดราคาน้ำมันในทุกกรณีให้ทุกคน เป็นมาตรการที่แบกรับภาระไว้ได้ต่อไปหรือไม่"