ค่าการกลั่นน้ำมันล่าสุดอยู่ที่เท่าไหร่ แพงเกินไปจริงหรือไม่ อ่านเลย

02 มิ.ย. 2565 | 09:30 น.

ค่าการกลั่นน้ำมันล่าสุดอยู่ที่เท่าไหร่ แพงเกินไปจริงหรือไม่ อ่านเลย ที่นี่มีคำตอบ หลังกระทรวงพลังงานเตรียมถกโรงกลั่นช่วยลดต้นทุนน้ำมัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาค่าการกลั่นน้ำมัน 

 

ทั้งนี้  เนื่องจากว่าในยปัจจุบันประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นข้อกังขาในสังคมว่าโรงกลั่นฉวยโอกาสปรับค่าการกลั่นขึ้นไปอยู่ในระดับสูง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำราคาน้ำมันแพง ทั้งที่รัฐบาลได้ปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลง เพื่อช่วยลดโครงสร้างต้นทุนราคาน้ำมัน แบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

 

อย่างไรก็ดี ล่าสุดคณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและโครงสร้างค่าการกลั่น ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงว่าค่าการกลั่นที่สูงขึ้นนั้น มีปัจจัยมาจากสาเหตุอะไร คาดว่าในเร็ววันนี้จะมีความชัดเจน และน่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมิ.ย.นี้
 

“ปัจจุบันธุรกิจน้ำมันเป็นการค้าแบบเสรี กระทรวงพลังงานไม่ได้ควบคุมค่าการกลั่น แต่จะใช้วิธีมอนิเตอร์บนสมมติฐานหลักระหว่างส่วนต่างราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งหากพิจารณาเบื้องต้นยอมรับว่าค่าการกลั่นขณะนี้ที่ประมาณ 5 บาทต่อลิตร ซึ่งอาจจะสูงเกินไป แต่ก็ต้องมาดูข้อเท็จจริงด้วย เพราะเข้าใจว่าช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาค่าการกลั่นมีการปรับตัวสูงขึ้นมากจากที่เคยอยู่เฉลี่ยที่ 2 บาทต่อลิตรมาเป็นราว 5 บาทต่อลิตร"

 

อย่างไรก็ตาม สมมติฐานที่ทางกระทรวงพลังงานติดตามอาจจะต่างกับโรงกลั่นเพราะโรงกลั่นแต่ละแห่งมีการนำเข้าน้ำมันมาจากหลายแหล่งไม่เท่ากันประกอบกับช่วงที่ผ่านมาน้ำมันดิบตลาดโลกราคาผันผวนจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้มีค่าพรีเมี่ยมสูงขึ้นเพราะมีเรื่องปัจจัยเสี่ยงทั้งหายาก และการขนส่งที่มีค่าใช้จ่ายที่แพง

 

ค่าการกลั่นน้ำมันล่าสุดอยู่ที่เท่าไหร่ แพงเกินไปจริงหรือไม่

 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวยอมรับว่า หากอ้างอิงจากการพิจารณาค่าการกลั่นเบื้องต้นจากรัฐบนสมติฐานเดิมมีโอกาสที่ค่าการกลั่นจะลดลงมาได้ระดับหนึ่งและจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันปรับลดลงมาแต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมาพิจารณาจากต้นทุนของแต่ละโรงกลั่นประกอบ

 

รวมถึงแต่ละช่วงเวลาว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร  จึงยังไม่อาจตอบได้ชัดเจนว่าจะสามารถนำมาสู่การลดราคาขายปลีกได้หรือไม่ อย่างไร 

ซึ่งในคณะอนุกรรมการฯที่พิจารณาเรื่องนี้ยังมีตัวแทนจากกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยงานหลักในการดูแลราคาขายปลีกและต้นทุนต่างๆที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบเช่นกัน 

 

สำหรับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังจากนี้คาดว่าอาจไม่พุ่งแรงเหมือนช่วงที่ผ่านมา ช่วงที่เหลือของปีคาดอยู่ระดับ 110 เหรียญฯ เพราะขณะนี้กลุ่มประเทศยุโรป(อียู)ผู้ใช้พลังงานจากรัสเซียเริ่มปรับตัว โดยหันไปใช้แหล่งพลังงานอื่นมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันคาดว่าสหรัฐอเมริกาจะปล่อยเชลก๊าซ(ก๊าซในชั้นหินดินดาน) ป้อนตลาด เพราะราคาจูงใจ แม้จะมีปัญหาเรื่องคาร์บอนอยู่บ้าง แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันคงมีการอนุโลม

 

นายวัฒนพงษ์ กล่าวถึงความต้องการใช้พลังงานไทยปีนี้ ว่า คาดจะเติบระดับ 2.1% ภายใต้สมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ(จีดีพี) โต 2.5-3.5% อัตราแลกเปลี่ยน 33.3-34.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบดูไบ 105-110 เหรียญ และจีดีพีโลก 3.5%

 

ส่วนการใช้พลังงานขั้นต้นรายชนิดพบว่าเติบโตเกือบทุกประเภท ยกเว้น ก๊าซธรรมชาติ คาดว่าจะลดลง 9.5% จากราคาที่ปรับสูงมากจากผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนผู้ใช้หันไปพึ่งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทน ขณะที่น้ำมันคาดเพิ่มขึ้น 12.9% ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 6.8% และไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้า 8.2%

 

"ภาพรวมยอดใช้พลังงานเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลกและการเปิดประเทศ แต่การระบาดของโควิด-19 และผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพราะอาจส่งผลต่อการใช้พลังงานของไทยได้"