ผงะ! โรงกลั่นกำไรเพิ่ม 10 เท่าดันราคาน้ำมันพุ่ง "พรรคกล้า" เสนอ 3 ข้อแก้ปัญหา

12 มิ.ย. 2565 | 05:03 น.

ผงะ! โรงกลั่นกำไรเพิ่ม 10 เท่าดันราคาน้ำมันพุ่ง "พรรคกล้า" เสนอ 3 ข้อแก้ปัญหา หลังกางข้อมูลพบผู้ประกอบการกำไรอื้อกว่า 8 บาทจากปีที่แล้ว

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เปิดเผยว่า ราคาน้ำมันในปัจจุบันมีราคาที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีส่วนมาจากค่าการกลั่นน้ำมันในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10 เท่าจากปีที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 8.56 บาทต่อลิตร (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มิ.ย. 65) จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกต้นทุนอยู่ที่ 25.92 บาทต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 34.48 บาทต่อลิตร

 

ท้งนี้  พรรคกล้ามีข้อเสนอ 3 ข้อ ในการแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงดังกล่าว ประกอบด้วย

 

  • ควรกำหนดเพดานการกลั่น  โดยเฉพาะโรงกลั่นของ บมจ. ปตท. จำกัด หรือ ปตท. ที่มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ  ซึ่งต้นทุนการกลั่นเท่าไหร่  รวมถึงควรมองไปที่ผลตอบแทนจากการลงทุนด้วยว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เพื่อนำมาหารือพิจารณากำหนดเพดานราคาที่เหมาะสม  ว่าราคาค่ากลั่นไม่ควรมีกำไรมากเกินกว่าเท่าไหร่  และจะต้องกำหนดพื้นฐานด้วย  เพื่อไม่ให้ขาดทุน  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อไม่ให้มีกำไรเกินควร  เหมือนสถานะ ณ ปัจจุบัน  ซึ่งไม่เคยปรากฎมาก่อน  หากย้อนกลับไปดูอดีตค่ากลั่น  ไม่เคยมีช่วงไหน  ที่ราคากลั่นห่างราคาน้ำมันดิบขนาดนี้  


 


 

"ค่าการกลั่นเป็นตัวเลขที่ถูกสมมุติขึ้นมา ราคาน้ำมันดิบคือเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่พอกำหนดราคาขาย กลับไม่ได้เทียบกับต้นทุน แต่ไปเทียบกับราคาขายของประเทศสิงคโปร์  ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนการผลิต หรือต้นทุนการดำเนินการแต่อย่างใด  และในสถานการณ์ปัจจุบันก็เป็นสาเหตุให้หนี้กองทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 หมื่นล้านบาท  และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าพลังงานของประชาชนสูงขึ้น"

 

  • เก็บภาษีลาภลอย (Windfall tax) เพราะถือว่ากำไรที่เกิดขึ้นเป็นกำไรที่ลาบลอยของผู้ประกอบการ  ไม่ได้มาจากการสร้างนวัตกรรม แต่มาเพราะราคาน้ำมันของตลาดสิงคโปร์ปรับสูงขึ้น ยังไม่นับรวมส่วนของสต็อกน้ำมันที่ซื้อมาในราคาถูก  แต่ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการได้กำไรจากส่วนต่างอีก  

 

"พรรคกล้า" เสนอ 3 ข้อแก้ราคาแพง

 

"การเก็บภาษีลาภลอยจะเป็นการนำกำไรที่ได้เกินควร  มาช่วยเหลือประชาชนในการชดเชยต่อไป  โดยพรรคกล้าได้มีการร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาแล้ว และจะขอชื่อสนับสนุนเพื่อยื่นให้รัฐสภา  และรัฐบาลพิจารณาต่อไป"
 

  • จริงจังกับมาตรการประหยัดการใช้พลังงาน โดย 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินชดเชยราคาหน้าปั๊ม โดยเป็นช่วงเวลาที่คนไทยใช้น้ำมันมากขึ้น  หลังจากที่โควิดคลี่คลาย  โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลทุกประเภทมีการเพิ่มขึ้น 15%  ซึ่งเป็นประเภทที่มีการชดเชยมากที่สุด

 

"สถานการณ์ตอนนี้รัฐต้องพูดความจริง โดยคนไทยทุกคนต้องให้ความร่วมมือในการช่วยประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง  จากเรื่องง่ายไปสู่เรื่องใหญ่ เช่น การประชุมสภาฯ การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ระดับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศต้องมีการปรับ  เพื่อให้ประหยัดพลังงาน  รวมถึงมาตรการชดเชย โดยให้เฉพาะผู้ที่เดือดร้อยจริง หรือผู้ที่มีความจำเป็น  ซึ่งจะต้องทบทวนมาตรการการเหวี่ยงแหด้วยการปรับลดราคาน้ำมันในทุกกรณีให้ทุกคน เป็นมาตรการที่แบกรับภาระไว้ได้ต่อไปหรือไม่"

 

สำหรับการกำหนดมาตรการประหยัดที่จริงจังและชัดเจน  เป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลต้องทำ  โดยรัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเรื่องสถานะกองทุนน้ำมัน  โดยเฉพาะการแก้ไขเรื่องค่าการกลั่นที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  และการส่งสัญญาณที่ชัดเจนเรื่องของการประหยัดพลังงาน  แม้ว่าอีก 10 เดือนอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ก็ตาม