กฟผ. ลุย “Triple S” ผลิตไฟฟ้าสะอาด สู่เป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมรุกธุรกิจใหม่

08 มิ.ย. 2565 | 12:31 น.
อัพเดตล่าสุด :09 มิ.ย. 2565 | 00:49 น.

กฟผ. สั่งลุย “Triple S” ผลิตไฟฟ้าสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนรับเทรนด์โลก สู่เป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนปี 2050 ลุยปลูกป่าล้านไร่ดูดซับคาร์บอน พร้อมผนึก 3 การไฟฟ้าตั้งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่-แผงเซลล์แสงอาทิตย์

 

นายบุญญนิตย์  วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในการเสวนา  Energy Transition in the Views of Global and Local Players ถึงกลยุทธ์ ของ กฟผ.เพื่อสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (EGAT Carbon Neutrality) ในปี 2050 ว่า ทาง กฟผ.ได้ประกาศนโยบาย Carbon Neutrality สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050   โดยใช้กลยุทธ์ หรือยุทธวิธีที่เรียกว่า “Triple S”  หรือ 3S ที่จะทำให้ กฟผ.เป็นกลางทางคาร์บอน ได้แก่ 1. Sources Transformation  โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า 2. Sink Co-creation การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม และ 3. Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอน (CO2)

 

บุญญนิตย์  วงศ์รักมิตร

 

สำหรับ "S" ตัวที่ 1 Sources Transformation  การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้าจากที่ กฟผ.ผลิตไฟฟ้ามา 54 ปี ที่ผ่านมาจะใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิลเป็นหลักในการผลิต แต่ช่วงหลังด้วยเทคโนโลยี และกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไป กฟผ.ได้ลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เพราะมีผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานทดแทน (Renewable Energy : RE) ที่เป็นพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยพลังงานหมุนเวียนที่ กฟผ.ใช้มานานแล้วคือโรงไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนใหญ่ทั่วประเทศ ที่ระบบสายส่งต้องลงทุนมาก เพราะต้องตัดผ่านที่ดินมายังจุดที่ใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ  ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าที่ควร

 

ต่อมาโซลาร์ฟาร์มเริ่มเป็นที่นิยม กฟผ.เลยหันมามองว่าพื้นที่น้ำในเขื่อนที่มีอยู่ ถ้านำเอาโซลาร์ฟาร์มไปลอยน้ำจะดีหรือไม่ และต่อกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้เข้าระบบของเขื่อน ทำให้ในช่วงตอนกลางวันมีไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ประมาณ 5-6 ชั่วโมง ดังนั้นไฟฟ้าจากเขื่อนแทนที่จะออกมา 6 ชั่วโมง ก็อาจจะเป็น 11-12 ชั่วโมง  และในอนาคตหากแบตเตอรี่(กักเก็บไฟฟ้า)มีราคาถูกลง สามารถจะนำเอาแบตเตอรี่ไปกักเก็บไฟฟ้า โดยเพิ่มตัวแผงโซลาร์ให้ใหญ่ขึ้น

 

ในตอนกลางวันสามารถกักเก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ไปไว้ในแบตเตอรี่ พอตอนกลางคนก็ปล่อยไฟฟ้าออกมาใช้  หากทำได้ถึงจุดหนึ่งอาจจะทำให้ไฟฟ้าที่ออกจากเขื่อนแต่ละแห่งครบ 24 ชั่วโมงเลย ซึ่งตรงนี้จะตอบโจทย์โลก ไม่ว่าจะเป็นการลดคาร์บอน ฝุ่น ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ที่เวลานี้ราคาพลังงาน(จากฟอสซิล)ของโลกแพงมาก หากไทยใช้โซลาร์ลอยน้ำมาก ๆ จะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่ไทยไม่สามารถควบคุมราคาลงได้

 

กฟผ. ลุย “Triple S” ผลิตไฟฟ้าสะอาด สู่เป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมรุกธุรกิจใหม่

 

“ เรื่องแรกคือเราจะปรับเปลี่ยนการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลให้น้อยลง และไปใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น อันที่ 2 คือ Grid Modernization (การปรับปรุงพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และ ระบบจำหน่ายไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย) ของทั้ง 3 การไฟฟ้าที่รับ และส่งไฟฟ้าไปถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ ตัว Grid เดิมเราออกแบบมาสำหรับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นโรงไฟฟ้าฟอสซิล ซึ่งมีไฟฟ้าที่ค่อนข้างออกมาแน่นอนในช่วงที่กำหนดได้ แต่ตอนนี้มี RE (พลังงานหมุนเวียน)เข้ามามากขึ้น"

 

อย่างไรก็ดีข้อเสียของ RE คือไม่เสถียร เช่นพลังงานลม มีลมมาก็จะมีไฟ แสงแดดมาก็มีไฟ ถ้าเมฆมา ไฟจากแสงแดดก็หมดไปอะไรอย่างนี้ ทำให้เมื่อ RE เข้ามาระบบมาก ๆ ตัวระบบ Grid เดิมที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการนี้ก็จะมีปัญหา อาจจะส่งผลทำให้ไฟตกไฟดับได้เลย เพราะฉะนั้นทั้ง 3 การไฟฟ้าจึงได้มีการปรับปรุงระบบ Grid ให้ Flexible  หรือมีความยืดหยุ่น รวมถึงการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความเสถียรมากขึ้น

 

ส่วนเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ยังอยู่ไกล เช่น เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ รวมถึงเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ขณะนี้กำลังมีการศึกษาการใช้งาน ซึ่งของ กฟผ.ใช้ที่เขื่อนลำตะคอง และทางเอ็กโก้ก็มีการศึกษาเริ่มต้นไว้แล้วเช่นกัน

 

กฟผ. ลุย “Triple S” ผลิตไฟฟ้าสะอาด สู่เป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมรุกธุรกิจใหม่

 

“S” ตัวที่ 2 Sink Co-creation (การเพิ่มแหล่งดูดซับกักเก็บคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม) โดยที่ทำได้เลยคือการปลูกป่า ซึ่งกฟผ.ปลูกป่ามาแล้ว 4 แสนไร่ และขณะนี้มีแผนจะปลูกป่าในอีก 10 ปี(ปี 2565-2574)  1 ล้านไร่ โดยร่วมกับพันธมิตร ใน 3 กรม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

 

“S”ตัวที่ 3 Support Measures Mechanism (การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อย CO2) จะมีเรื่อง Smart Energy Efficiency โดยคิดจะทำแพลตฟอร์มเพื่อใช้ในบ้าน เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบว่าตอนนี้ใช้เครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องซักผ้า หรืออะไรก็ตามที่ใช้ไฟฟ้ามาก ๆ ควรจะมีการควบคุมหรือมีการมอนิเตอร์อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องในอนาคต นอกจากนี้มีการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพื่อสังคมสีเขียว และกำลังจะทำร่วมกัน 3 การไฟฟ้า (กฟผ. กฟน. กฟภ.) ซึ่งต่อไปไม่ว่าบริษัทใดจะมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสามารถใช้แอปเปิดดูได้ว่ามีสถานีชาร์จอยู่ที่ใดบ้าง จะจองการชาร์จได้หรือไม่ และขั้นสุดท้ายจะพัฒนาไปถึงขั้นที่สามารถจ่ายเงินระหว่างแอปได้เลย  ตรงนี้จะเป็นประโยชน์ และส่งเสริมให้ EV เกิดขึ้นอย่างคล่องตัวในประเทศไทย

 

ส่วน BCG (Bio - Circular - Green) Economy ในส่วนของ Bio(ชีวภาพ) อย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิง ขณะนี้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรนำพืช หรือชีวมวล หรือเศษไม้ต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณภาคเหนือให้นำมาขายให้  กฟผ.เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดฝุ่นควันของทางภาคเหนือลงได้ จากเดิมส่วนใหญ่จะใช้วิธีเผาทิ้ง หรือการทำโรงไฟฟ้าชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็ก

 

กฟผ. ลุย “Triple S” ผลิตไฟฟ้าสะอาด สู่เป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมรุกธุรกิจใหม่

 

ส่วน Circular Economy กฟผ.มีแผนที่จะทำโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่และแผงเซลล์แสงอาทิตย์ เพราะเชื่อว่าอีกไม่กี่ปีตรงนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ  จากแผงโซลาร์จะหมดอายุ โดยขณะนี้ กฟผ.ได้ประสานความร่วมมือกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการตั้งโรงงานนี้ขึ้นมา และจะเชิญอีก 2 การไฟฟ้าเข้าร่วมด้วย และอยากเชิญ ปตท.มาเป็นพันธมิตรร่วมกันในการตั้งโรงงานฯ เพื่อสังคม ซึ่งอาจจะตั้งในแต่ละภูมิภาค เพราะในอนาคตคงมีซากทิ้งเหล่านี้มาก

 

“ไทยเรามีทั้งโชคดีและโชคร้าย เราโชคร้ายที่เราเป็นผู้ตามเรื่องเทคโนโลยี  เวลาเทคโนโลยีเขาไปทางไหนเราต้องตามไป  เมื่อก่อนเขาใช้ถ่านหินประเทศก็รุ่งเรือง เราก็ใช้ถ่านหินตาม พอเขาบอกให้เลิกใช้ถ่านหินให้ไปใช้เทคโนโลยีอื่นที่สะอาดกว่า และก็แพงกว่าเราก็ต้องตาม แต่ในเคสที่ว่านี้ผมว่าเราโชคดี คือพอเขาไปก่อน เขาไปสนับสนุน RE ที่เกิดความไม่เสถียร เราก็ได้เรียนรู้ว่าอย่าไปเดินเร็วขนาดเขา อันนี้ก็มีทั้งโชคดี และโชคร้าย ซึ่งเราสามารถใช้เป็นบทเรียนได้” นายบุญญนิตย์ กล่าว