กลุ่ม ปตท.- PJW พัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์จากพลาสติกสิ้นเปลืองรุกตลาดอาเซียน

07 มิ.ย. 2565 | 14:34 น.

กลุ่ม ปตท.- PJW พัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์จากพลาสติกสิ้นเปลืองรุกตลาดอาเซียน ดึงจุดแข็ง 3 บริษัทขับเคลื่อนธุรกิจสร้างมูลค่าเพิ่มการตลาด คาดดีลแล้วเสร็จปลายปี 65

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ ประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด  เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. และอินโนบิกได้ดำเนินการร่วมกับ บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก จำกัด (มหาชน) หรือ PJW ศึกษาและหาโอกาสทางธุรกิจในธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ 

 

ภายใต้การร่วมศึกษาข้อมูลตลาดเครื่องมือแพทย์ การออกแบบและพัฒนาการผลิตเครื่องมือแพทย์ การศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดในด้านต่างๆ และศึกษากฎเกณฑ์ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ 

 

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท. และอินโนบิกมุ่งที่จะผลักดันนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมกลุ่ม NEW S Curve และการเป็น MEDICAL Hub ของรัฐบาล ซึ่งอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ถือ เป็น NEW S Curve ที่สำคัญของประเทศไทย 

 

โดยทางบริษัท ต้องการให้ความร่วมมือนี้ เป็นการสร้างฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของอาเซียนในประทศไทย สามารถสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมไทย โดยจะศึกษาเพื่อผลิตสินค้าที่มีความต้องการของตลาดแต่ยังไม่มีนวัตกรรมที่เหมาะสมและยังไม่ได้ผลิตในประเทศในปัจจุบัน ซึ่งการร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นรากฐานและเป็นตัวอย่างที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยต่อไปในอนาคต

ดร.ณัฐ  อธิวิทวัส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อินโนบิก (เอเซีย) กล่าวว่า อินโนบิกมุ่งที่จะพัฒนาธุรกิจวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ให้ประสบผลสำเร็จร่วมกับ IRPC และ PJW โดยจะเป็นโครงการพัฒนาต่อเนื่องหลังจากทางอินโนบิก มีการร่วมทุนในการผลิตวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์  ในกลุ่มผ้าชนิดไม่ถักไม่ทอ ที่เป็นวัสดุหลักของการผลิตหน้ากากอนามัย ร่วมกับทาง IRPC ไปก่อนหน้าแล้ว 

 

รวมถึงยังได้ร่วมทุนเพิ่มเติมกับพันธมิตรกลุ่มวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ เพื่อเป็นฐานผลิตในการอุปกรณ์การแพทย์ที่เป็น Durable Medical Device โดยคาดหวังว่า ด้วยศักยภาพของทั้ง 3 บริษัท จะทำให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ สามารถผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศในภูมิภาคนี้ด้วย เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจวัสดุทางการแพทย์ของไทย

 

นายสมเกียรติ เลิศฤทธิ์ภูวดล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์แผนและพัฒนาธุรกิจองค์กร  บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC กล่าวว่า ด้วยทิศทางตลาดเครื่องมือและวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด - 19 (covid-19) เป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว 

 

กลุ่ม ปตท.- PJW พัฒนาผลิตภัณฑ์การแพทย์จากพลาสติกสิ้นเปลือง

 

ประกอบกับช่วงปี 2565 ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged society) หรือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 9 ปี ข้างหน้า ในปี 2574 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society)  มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ  

ซึ่งจะเป็นโอกาสทางการตลาดที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ smart material กลุ่ม Specialty Plastic หรือเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ สำหรับผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข (medical application) Smart Material ที่ได้คิดค้น วิจัย พัฒนาและผลิตเม็ดพลาสติก PP Meltblown วัตถุดิบหลักสำหรับผ้าชั้นกรองหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดกาวน์ เป็นรายแรกของประเทศ 

 

พร้อมทั้งได้จัดตั้ง วชิรแล็บเพื่อสังคม ห้องปฏิบัติการกลางเพื่อทดสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งความร่วมมือของทั้ง 3 ฝ่ายในครั้งนี้จะสามารถประสบผลสำเร็จทางธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และขยายห่วงโซ่อุปทานธุรกิจปิโตรเคมีของ IRPC โดยใช้องค์ความรู้ ประสบการณ์ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน 

 

และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของประเทศที่ทั้ง 3 บริษัท จะร่วมกันศึกษา พัฒนา และแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกันในธุรกิจผลิต และจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์  โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคง และแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตและสาธารณสุขของคนไทย พร้อมทั้งสนับสนุนและผลักดันนโยบายของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร PJW กล่าวว่า จากทิศทางและโอกาสทางการตลาดของอุตสาหกรรมวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนตามที่ทาง INNOBIC และ IRPC ได้กล่าวมาแล้วนั้น  

 

ขณะเดียวกันด้วยนโยบายพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ในอนาคต จะเป็นส่วนผลักดันให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองเพิ่มมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกของประเทศไทย และเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยบรรลุเป้าหมายการยกระดับประเทศไทยสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ในอนาคต

 

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเป็นการต่อยอดธุรกิจภายใต้การเป็น Strategic Partner ร่วมกัน โดยนำจุดแข็งความเชี่ยวชาญของทั้ง 3 บริษัทมาช่วยผลักดันในการสร้างมูลค่าการตลาดผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ให้เพิ่มสูงขึ้น และยังร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ภายใต้การแสวงหาโอกาสในการลงทุนร่วมกันในธุรกิจผลิต 

 

และจำหน่ายวัสดุและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ทางการแพทย์ โดยมุ่งหวังที่จะช่วยเพิ่มความมั่นคงและแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่สามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ สอดรับกับการที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็น Medical Hub อย่างเต็มรูปแบบ และยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต     


“การที่ PJW ได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญ โดยเป็นหนึ่งใน Strategic Partner ร่วมกับกลุ่มในเครือ ปตท. ถือว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้กับบริษัทฯ เนื่องจากความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการนำจุดแข็งและความเชี่ยวชาญของทุกบริษัทมาต่อยอดธุรกิจ โดย IRPC มีศักยภาพความแข็งแกร่งในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเม็ดพลาสติกชั้นนำในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่อินโนบิกมุ่งเน้นดำเนินการลงทุนในธุรกิจยา ธุรกิจวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ ดังนั้นจึงเชื่อว่าความสำเร็จในครั้งนี้จะช่วยต่อยอดและพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ สู่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลือง ที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงสุด”

นายวิวรรธน์ กล่าวอีกว่า ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองที่ได้จากการวิจัยและพัฒนาร่วมกันกับพันธมิตรทั้ง 3 บริษัท คาดว่าสินค้าบางตัวจะแล้วเสร็จภายในช่วงปลายปี 2565นี้ โดยจะเริ่มจากการสั่งผลิต (OEM) สินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายก่อน และหลังจากนั้นจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน (JV) เพื่อก่อสร้างโรงงานและลงทุนเครื่องจักร 

ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในครึ่งหลังของปี 2566 ในขณะเดียวกัน ในกรอบความร่วมมือนอกจากจะพัฒนาสินค้าด้วยตัวเองแล้ว ยังจะมีการศึกษาและมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ เพื่อที่จะนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาช่วยในการสนับสนุนและเร่งรัดการเติบโตของบริษัทไปพร้อมๆกันด้วย

“ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นรากฐานและเป็นตัวอย่างในการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ของไทยต่อไปในอนาคต และเพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และเป็นบริษัทชั้นนำด้านผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์จากพลาสติกของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนต่อไป”