เงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ธ.ก.ส. 6 พันล.ชาวไร่อ้อย มีอะไรบ้าง เช็คเลย

02 มิ.ย. 2565 | 08:42 น.

เงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ธ.ก.ส. 6 พันล.ชาวไร่อ้อย มีอะไรบ้าง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลัง ครม. อนุมัติสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยสำหรับบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและลดอ้อยไฟไหม้เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 – 2567 

 

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องผ่านคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรใช้ไร่ในอ้อย แก้ไขปัญหาภัยแล้ง

 

ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการเผาอ้อยก่อนตัดเป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ต้นเหตุ ทั้งยังเพิ่มผลผลิตอ้อยตันต่อไร่สูงขึ้นอีกด้วย

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า โครงการนี้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 2% ต่อปีให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565 – 2567 รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท   

ซึ่ง ครม. อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท มีรายละเอียดโครงการ ดังนี้

 

  • กู้เงินเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ การบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย และปรับพื้นที่ปลูกอ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท 

 

  • เฉพาะปรับพื้นที่ปลูกอ้อย อัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท 

 

  • ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 6 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี

 

  • กู้เงินเพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท 

 

เงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2% ธ.ก.ส. 6 พันล.ชาวไร่อ้อย มีอะไรบ้าง

 

  • รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท 

 

  • ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 2% ต่อปี
  • กู้เงินเพื่อซื้อรถบรรทุกและพ่วงบรรทุก ชำระคืนเสร็จสิ้นไม่เกิน 8 ปี 

 

  • ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ 4% ต่อปี

 

สำหรับโครงการดังกล่าวนี้จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่