คาดผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 65/66 เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านตัน

17 พ.ค. 2565 | 03:57 น.

คาดผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 65/66 เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านตัน กระทรวงอุตสาหกรรมเผยฤดูการผลิตปี 64/65 ผลผลิตอ้อยรวม 92.07 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.41 ล้านตัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คาดการณ์แนวโน้มผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2565/66 จะมีปริมาณอ้อยเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านตัน สาเหตุจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง

 

ผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ของโรงงานน้ำตาลทั้ง 57 โรง ตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 รวมระยะเวลาหีบอ้อย 152 วัน มีปริมาณอ้อยเข้าหีบทั่วประเทศที่ 92.07 ล้านตัน 

 

แยกเป็นอ้อยสด จำนวน 66.95 ล้านตัน คิดเป็น 72.72% และอ้อยไฟไหม้ จำนวน 25.12 ล้านตัน คิดเป็น 27.28% yield น้ำตาลต่อตันอ้อย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 110.08 กิโลกรัมต่อตันอ้อย 

 

และมีค่าความหวานอ้อยเฉลี่ยอยู่ที่ 12.71 CCS ปริมาณผลผลิตอ้อยรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25.41 ล้านตัน คิดเป็น 38.12% สาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นและราคาน้ำตาลโลกสูงขึ้น 
 

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือต้นทุนการตัดอ้อยสด อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป โดยการช่วยเหลือต้นทุนการตัดอ้อยสดนั้น นอกจากจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ยังทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) กล่าวว่า จากปัญหาอ้อยสดสกปรกที่เกิดจากการเก็บเกี่ยวโดยไม่มีการตัดยอด 

 

คาดผลผลิตอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 65/66 เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ล้านตัน

 

และไม่มีการสางใบอ้อย กลายเป็นอ้อยมีสิ่งปนเปื้อน และอ้อยยอดยาว ที่เป็นสาเหตุทำให้ yield น้ำตาลต่อตันอ้อยลดลงนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะวางแนวทางในการแก้ปัญหาต่อไป

 

นายเอกภัทร วังสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณตัวเลขอ้อยไฟไหม้ในฤดูการผลิตปี 2564/65 ยังไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ คือ ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบไม่เกิน 10% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด สาเหตุมาจากฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้อ้อยล้มเป็นจำนวนมาก เป็นอุปสรรคในการตัดอ้อยสด

ทาง สอน. ได้วางแนวทางบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น อาทิเช่น จัดหาเครื่องสางใบอ้อยมาให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยืมเพื่อสางใบอ้อย ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อยเพื่อเพิ่มรายได้

 

และลดการเผาใบอ้อย การขอรับการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเพื่อลดต้นทุนการตัดอ้อยสด การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้เพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร 

 

รวมทั้งการลงนามในบันทึกความร่วมมือการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดนโยบายชัดเจนที่จะไม่ส่งเสริมอ้อยไฟไหม้ในการลดฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับโรงงานน้ำตาลทรายเองได้เข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดมากขึ้น คาดว่าฤดูการผลิตปีหน้าปริมาณอ้อยสดจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลทำให้ผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยสูงขึ้น