หนี้สินคนไทย พุ่งขึ้นมากแค่ไหน เฉลี่ยหนึ่งครัวเรือนมีหนี้รวมกันกี่บาท

25 พ.ค. 2565 | 22:51 น.

เปิดปัญหาหนี้สินคนไทย หลังสศช. ประกาศตัวเลขล่าสุดพบจำนวนหนี้สินของครัวเรือนไทยยังพุ่งต่อเนื่อง ไปเช็คข้อมูลล่าสุดสัดส่วนหนี้เพิ่มขึ้นมากแค่ไหน จำนวนหนี้สินเฉลี่ยหนึ่งครัวเรือนมีหนี้รวมกันกี่บาท รวมถึงทางออกมีอะไรบ้างที่จะช่วยเหลือได้ รวมไว้แล้วที่นี่

ปัญหาหนี้สินครัวเรือนคนไทย นับเป็นหนึ่งเรื่องสำคัญที่คอยกัดกร่อนการดำรงชีวิตให้เกิดความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภาวะสังคมไทยไตรมาสแรก มีข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยพบว่า จำนวนหนี้สินของครัวเรือนไทยปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ สศช. รายงานว่า จากตัวเลขล่าสุดของหนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 แม้ว่าหนี้เสียภาคครัวเรือนจะมีสัดส่วนลดลง โดยมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% เมื่อไตรมาสที่ผ่านมาโดยสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.1% เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 2 ไตรมาสที่ผ่านมา 

 

แต่ยังมีประเด็นที่เป็นความเสี่ยงต่อความสามารถในการชำระหนี้ โดยครัวเรือนไทยมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้น จากการต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ

 

หนี้สินครัวเรือนไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2564

สะท้อนจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2564 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบข้อมูลดังนี้ 

  • ครัวเรือนที่เป็นหนี้มีสัดส่วนมากขึ้น คิดเป็น 51.5% เพิ่มขึ้นจาก 45.2% ในปี 2562 
  • รายได้ของครัวเรือนยังมีการขยายตัวต่ำกว่าการขยายตัวของหนี้สิน 
  • จำนวนหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนในปี 2564 อยู่ที่ 205,679 บาท เพิ่มขึ้น 25.4%เมื่อเทียบกับหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 164,005 บาท ในปี 2562 
  • รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง 5.1% 
  • จำนวนเงินฝากต่อบัญชีที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาทมีแนวโน้มลดลง

 

ขณะเดียวกันยังพบข้อมูลอีกว่า รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ รวมทั้งผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก อีกทั้งค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนอาจมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรถยนต์

 

การขยายตัวของนี้สินครัวเรือนปัจจุบัน

อย่างไรก็ดีในปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่อาจเป็นทางเลือกในการบรรดทาผลกระทบได้ ดังนี้ 

  • การปรับโครงสร้างหนี้ เช่น การยืดหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ปัจจุบันพบว่ามีประชาชนรายย่อยกว่า 4.2 ล้านบัญชี ที่เข้าร่วมมาตรการ คิดเป็นยอดหนี้กว่า 1.55 ล้านบาท 
  • ทางด่วนแก้หนี้ เป็นการเชื่อมโยงเจ้าหนี้กับลูกหนี้ให้สามารถเจรจาเพื่อแก้ปัญหาหนี้ร่วมกัน โดยในเดือนมีนาคม 2565 มีลูกหนี้ได้รับการแก้ไขปัญหาประมาณ 2.6 แสนบัญชี 
  • คลินิกแก้หนี้ ช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันของลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้ค้างชำระอยู่กับเจ้าหนี้ให้สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้เบ็ดเสร็จครบวงจรในที่เดียว เช่น การรวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นก้อนเดียว โดยมีการช่วยเหลือแล้ว 8 หมื่นบัญชีในเดือนมีนาคม 2565 
  • มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและกรมบังคับคดีจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ ล่าสุดมีการเข้าร่วมแล้วกว่า 2.3 แสนบัญชี

 

มาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน