ยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่

23 พ.ค. 2565 | 06:35 น.

การดำเนินงานแปลงใหญ่ด้านปศุสัตว์ เป็นหนึ่งในโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่สำคัญของกรมปศุสัตว์ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มและบริหารจัดการร่วมกัน เกิดการรวมกันผลิต และรวมกันจำหน่าย มีตลาดรองรับที่แน่นอน รวมถึงเพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น

 

ยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่

 

“วิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์” ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในเบื้องต้น และมีโอกาสจะพัฒนาต่อยอดด้วยเกษตรสมัยใหม่ให้เติบโตต่อไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

 

ที่มาที่ไปของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เดิมในพื้นที่ตำบลป่าเลา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะหลายราย เป็นลักษณะการเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย ยังไม่มีการรวมกลุ่ม ราคาซื้อขายแพะไม่แน่นอน

 

ต่อมานายชวน ขุมทรัพย์ ได้ชักชวนเกษตรกรในพื้นที่จำนวน 11 ราย รวมกลุ่มกันในการเพิ่มช่องทางการตลาด แต่ยังเป็นลักษณะการเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยง ต่างคนต่างขาย ปริมาณแพะยังมีจำนวนน้อย เฉลี่ยประมาณ 20 ตัวต่อราย ทำให้พ่อค้าไม่เข้าไปรับซื้อ การรวมกลุ่มในช่วงแรกจึงประสบปัญหาราคาที่ไม่แน่นอน ปัญหาด้านสุขภาพแพะ และโรงเรือนในช่วงแรกไม่ได้มาตรฐาน ทำให้มีปัญหาด้านสุขภาพสัตว์

 

ขณะเดียวกันการเลี้ยงช่วงแรกไม่มีการติดต่อกับหน่วยงานราชการ แต่จะติดต่อเฉพาะขอการรับวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยมาฉีดในแพะของตนเอง โดยขอรับจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ส่วนพืชอาหารสัตว์จะใช้พืชอาหารสัตว์ตามธรรมชาติจากพื้นที่สาธารณประโยชน์หรือพื้นที่ว่างเปล่าที่เจ้าของที่ดินไม่ได้ทำประโยชน์มาใช้เลี้ยงแพะ

 

ยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่

 

ส่วนการขายแพะจะขายให้พ่อค้าในท้องถิ่น (พ่อค้ามุสลิม) โดยซื้อในราคากิโลกรัมละ 70 บาท หากมีแพะปริมาณมากราคาซื้อขายจะต่ำเหลือกิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอด ทำให้การเลี้ยงแพะในช่วงแรกประสบปัญหาหลายด้าน ทั้งด้านการตลาด ด้านสุขภาพสัตว์ ด้านอาหารสัตว์ ด้านโรงเรือน ด้านเงินทุน ด้านพันธุ์แพะ และด้านความรู้ในการเลี้ยงแพะ

 

ต่อมาในปี 2556 ได้จัดตั้งกลุ่มเป็นกลุ่มธรรมชาติ มีสมาชิก จำนวน 6 ราย เพื่อขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการในด้านต่าง ๆ และสามารถแก้ปัญหาได้บ้างส่วน แต่ยังพบปัญหาด้านการขายแพะ เนื่องจากพ่อค้าให้ราคาไม่เท่ากัน เกษตรกรจึงเลิกเลี้ยงหลายราย

 

ยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่

 

ต่อมาได้รับคำแนะนำจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ให้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์ เพราะในการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการจะช่วยเหลือหรือสนับสนุนในลักษณะของการรวมกลุ่มมากกว่าช่วยเกษตรกรรายย่อย  ดังนั้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2557 จึงขึ้นทะเบียนกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์กับกรมปศุสัตว์ โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “เกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแกะตำบลป่าเลา” มีสมาชิกเริ่มต้น จำนวน 15 ราย มีที่ตั้งกลุ่มบ้านเลขที่ 25 หมู่ 6 ตำบลป่าเลา อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายชวน ขุมทรัพย์ เป็นประธาน

 

หลังจากนั้นสมาชิกได้เริ่มเข้ารับการอบรมการเลี้ยงแพะจากส่วนราชการ การจัดระบบการจัดการฟาร์ม ได้รับการสนับสนุนพันธุ์พืชอาหารสัตว์ การดูแลด้านสุขภาพแพะ และรวมกลุ่มกันขายแพะในราคาเดียวกันทุกฟาร์ม ทำให้ขายแพะได้ราคาสูงขึ้น สมาชิกกลุ่มจึงได้รับความพึงพอใจมาก ขณะที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ได้เข้ามาทำการทดสอบโรคเพื่อทำฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลา (โรคแท้งติดต่อ)ให้สมาชิกกลุ่ม จนสมาชิกได้เป็นฟาร์มปลอดโรคบรูเซลลาระดับ B หลายฟาร์ม พ่อค้ามีความมั่นใจในการรับซื้อมากขึ้น

 

ส่วนพืชอาหารสัตว์ จากเดิมที่ใช้หญ้าธรรมชาติในการเลี้ยงแพะ สมาชิกได้หันมาปลูกพืชอาหารสัตว์ใช้เอง ทำให้หญ้าที่ใช้เลี้ยงแพะมีคุณภาพดีขึ้น เมื่อขายแพะได้ราคาดีสมาชิกจึงมีการขยายฟาร์ม ปรับปรุงโรงเรือน มีการทำวัคซีนป้องกันโรคและถ่ายพยาธิตามโปรแกรม ทำให้แพะมีสุขภาพดี ผลผลิตแพะจึงมีคุณภาพดีขึ้น มีแหล่งขายที่มั่นคง ยั่งยืน ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มผู้เลี้ยงแพะมีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นอาชีพหลักจนถึงปัจจุบัน

 

ปี 2562 ได้จดทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะ-แกะ อำเภอเมือง” เมื่อ วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2562 ปัจจุบันมีสมาชิก  37 คน จำนวนแพะ 2,034 ตัว โดยทำเป็นอาชีพหลัก ขณะที่สมาชิกยังมีอาชีพเสริม ทั้งการปลูกข้าว ข้าวโพด มะขามหวาน และยางพารา

 

นายชวน ขุมทรัพย์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ เล่าว่า ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มเลี้ยงแพะมี 3 ประเภท ได้แก่ 1. เลี้ยงผลิตลูก โดยจะขายให้กับสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปเลี้ยงเป็นแพะขุน 2.เลี้ยงพ่อ-แม่พันธุ์ เนื่องจากกลุ่มมีสมาชิกเข้าใหม่หลายราย และยังต้องการพ่อ-แม่พันธุ์ เพื่อขยายฟาร์ม รวมถึงสมาชิกรายเดิมที่ต้องการเปลี่ยนพ่อ-แม่พันธุ์ หากซื้อแพะจากภายนอกไม่มั่นใจว่าแพะที่ซื้อเข้ามาจะปลอดโรคเหมือนกับของสมาชิกภายในกลุ่มหรือไม่ จากแพะของสมาชิกกลุ่ม ทุกฟาร์มต้องทำการทดสอบโรคบรูเซลลา ทำให้มั่นว่าแพะปลอดโรคแน่นอน  และ 3.เลี้ยงแพะขุน สมาชิกกลุ่มส่วนหนึ่งจะเลี้ยงแพะขุนโดยคัดจากลูกแพะหย่านมในฟาร์ม และซื้อจากสมาชิกกลุ่ม

 

ยกระดับเกษตรกรแปลงใหญ่ ด้วยเกษตรสมัยใหม่

 

ด้านการตลาด ราคารับซื้อขายแพะ ณ ปัจจุบัน ขนาดน้ำหนัก 15-20 กิโลกรัมละ 100 บาท, น้ำหนัก 20-30 กิโลกรัมละ 90 บาท, น้ำหนัก 30-40 กิโลกรัมละ 80 บาท และแพะอายุ 1 ปี ขึ้นไป (แพะปลด) ตัวผู้ กิโลกรัมละ 70 บาท ตัวเมีย กิโลกรัมละ 60 บาท ส่วนลูกแพะหย่านม  ชั่งกิโลขายตามราคาที่กำหนด ส่วนพ่อพันธุ์ราคาตัวละ 20,000 บาท  แม่พันธุ์ตัวละ 5,000 บาท ขณะที่แพะขุน สมาชิกกลุ่มจะนำแพะมาขายที่คอกกลางของกลุ่มพื้นที่บริเวณฟาร์มของประธานกลุ่ม โดยการชั่งน้ำหนัก ณ หน้าฟาร์ม ทำให้สมาชิกมีตลาดและราคาที่แน่นอน

 

นอกจากเครือข่ายภายในกลุ่มแล้ว ปัจจุบันยังมีกลุ่มวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมด้านการผลิตและจำหน่าย เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะตำบลน้ำมวบ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะบ้านสูบ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และซื้อแพะจากกลุ่มกลับไปเลี้ยง แล้วนำกลับมาขายให้กลุ่ม, มีบริษัท ชาคาน ฟาร์มแพะ จำกัด เขตทุ่งครุ กรุงเทพ และเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะแห่งประเทศไทย อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นผู้รับซื้อแพะจากกลุ่ม เป็นต้น

 

ปัจจุบันแพะที่สมาชิกขุน จะนำมาขายให้ที่คอกกลาง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณฟาร์มของประธาน มีขนาดบรรจุ 200-300 ตัว และมีแผนจะขยายคอกลางให้มีขนาดใหญ่ ขนาดบรรจุ 1,000 ตัว ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารของวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จะมีการประชุมประจำเดือนทุกวันที่ 5 ของเดือน เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน เช่น จำนวนแพะ ลูกเกิด เป็นต้น รวมถึงแจ้งข่าวสารเกี่ยวกับแพะ ราคาซื้อขายแพะ จำนวนแพะพร้อมขาย รวมถึงปัญหาอุปสรรคในการเลี้ยงแพะของสมาชิกเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป โดยการประชุมคณะกรรมการ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ได้ประชุมผ่านระบบ Application Line หรือมีการแจ้งข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ผ่านทาง Line ทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของสมาชิกกลุ่มตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ยังมีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับครื่องปั๊มน้ำเพื่อรดแปลงหญ้า ช่วยประหยัดพลังงานน้ำมัน ช่วยลดต้นทุนการผลิต และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังขยายในเรื่องนี้ให้สมาชิกดำเนินการต่อไป

 

จากที่เคยเลี้ยงแพะแกะแบบตัวใครตัวมัน ประสบปัญหามากมาย สู่การรวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่ มีการบริหารจัดการอย่างมีระบบแบบแผน มีเครือข่าย มีตลาด มีผู้ซื้อ ขายได้ราคา และมีรายได้ที่แน่นอน วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ถือเป็นอีกตัวอย่างของการรวมพลังเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ที่จะช่วยสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่แข็งแรง และเกษตรกรมีรายได้ที่ดีและยั่งยืน