"อนุทิน"ลั่นขับเคลื่อน"Health for Wealth"สาธารณสุขไทยระดับโลก 

20 พ.ค. 2565 | 08:30 น.

"อนุทิน"ลั่นเชื้อโควิดคุมได้แล้ว ย้ำสาธารณสุขตื่นตัวและเฝ้าระวังแต่ต้นมือ งสามารถบริหารสถานการณ์นำหน้าการระบาดโควิดได้ตลอด แนะมองโควิดเป็นการลงทุน ชี้ไทยสามารถต่อยอดความเชื่อมั่นระบบสาธารณสุข ที่ติดแถวหน้าโลกเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตสู่"เดอะ เบสท์ ไทยแลนด์"

นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการสัมมนา"Better Thailand ถามมาตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม" ในหัวข้อ คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ดูแลทุกวัย ยกระดับสวัสดิการ" ว่า รอบ  2 ปีกว่าของการระบาดเชื้อโควิด-19 นั้น ระบบสาธารณสุขไทยเตรียมพร้อม และรับมืออย่างเท่าทันสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น โดยตั้งแต่มีข่าวการพบเชื้อไวรัสมีหนามในจีนเมื่อปลายปี 2562  กระทั่งเกิดการระบาดในอู่ฮั่น ที่เวลานั้นมีนักท่องเที่ยวจีนในไทยจำนวนมาก ระบบสาธารณสุขของไทยตื่นตัว ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแต่ต้น
    
ขณะที่กระทรวงฯร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เร่งศึกษาไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ทันที จนสามารถผลิตน้ำยาตรวจสอบหาเชื้อไวรัสตัวใหม่นี้ได้ กระทั่งตรวจพบนักท่องเที่ยวจีนติดโควิด-19 ซึ่งเป็นรายแรกที่ติดเชื้อนอกประเทศในไทย ซึ่งการที่สามารถตรวจคัดกรองหาเชื้อได้ตั้งแต่ต้น ๆ ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยสามารถเตรียมรับมือก่อนสถานการณ์ระบาดได้ในระดับหนึ่งได้ตลอด

\"อนุทิน\"ลั่นขับเคลื่อน\"Health for Wealth\"สาธารณสุขไทยระดับโลก 

นายอนุทินกล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขมีเป้าหมายการรับมือโควิด-19 ใน 2 มิติตลอดเวลา คือ 1.ทำอย่างไรให้คุมโรคให้ได้เร็วที่สุด และ 2.มาตรการที่ใช้ต้องสร้างผลกระทบประชาชนให้น้อยที่สุด ถ้ากระทรวงสาธารณสุขจะมองว่าเรามีภารกิจแค่คุมโรคให้อยู่ก็ง่ายมาก ประกาศล็อกดาวน์อย่างเดียวเพื่อคุมเชื้อ ที่เหลือเป็นภารกิจของคนอื่น  แต่ทีมหมอทีมสาธารณสุขคำนึงทุกมิติอยู่ตลอดเวลา ได้ออกมาตรการแต่ละช่วงเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับแต่ละสถานการณ์ รัฐบาลนี้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่เอาโควิดเป็นศูนย์กลาง

 

"เริ่มแรกสุดที่เรายังไม่รู้จักโควิด ใครป่วยเราให้เข้าโรงพยาบาลทั้งหมด เมื่อพอรู้จักเชื้อมากขึ้น มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยมากขึ้น อาการแบบไหนระดับใดต้องดูแลอย่างไร จนมั่นใจก็ขยายการดูแลเมื่อเตียงเริ่มไม่พอ ก็ปรับเป็นโรงพยาบาลสนาม จำนวน 4,000 เตียงที่เมืองทองฯ ก่อนจะกระจายไปทั่วประเทศ จนต่อมาเป็นฮอสพิเทล เป็นศูนย์พักคอยชุมชน หรือระบบโฮม ไอโซเลชัน เพื่อให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าไปได้โดยไม่ล่ม อาจมีเพียงบางช่วงที่ปริ่ม ๆ ศักยภาพ"

นอกจากนี้ต้องดูแลทุกส่วน ทำอย่างไรให้เข้าถึงยาได้เร็วที่สุด ทำทุกอย่างทั้งคิดค้นสูตรยาเอง ผลิตยาเอง ทั้งตามสิทธิบัตร หรือการให้ต้องมีโรงงานผลิตในประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะมียา มีเวชภัณฑ์ใช้อย่างไม่ขาดตอน ทั้งโรงงานผลิตวัคซีน โรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ซึ่งช่วยแก้ไขสถานการณ์ความขาดแคลนในช่วงแรกของการระบาดจนคลี่คลายไปในช่วงหลัง 

 

"การระบาดเชื้อโควิด-19 เกิดหลายเวฟ แต่เราไม่เคยขาดยา ขาดเวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ เตียง อาจมีปริ่ม ๆ บ้างในบางช่วง และปรับมาตรการตามสถานการณ์ ภายใต้หลักการทางวิชาการทางวิทยาศาสตร์ตามองค์ความรู้ในแต่ละช่วง"

 

นายอนุทินย้ำว่า สถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นจากความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุข ของบุคลากร โดยระบบพังทะลาย ที่สำคัญที่สุดคือจากความร่วมมือของประชาชน ทั้งอสม.กว่า 1 ล้านคนทุกพื้นที่ของประเทศ และของประชาชนทั่วไป ที่ให้ความร่วมมือปฎิบัติตนตามแนวทางด้านสาธารณสุข ทำให้สามารถคุมสถานการณ์การระบาดได้มาโดยตลอด 

 

"เมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง เมื่อมั่นใจแล้วก็ได้เสนอที่ประชุมศบค.ในการกลับมาเปิดประเทศ ผมได้เสนอให้เปิดผับบาร์คาราโอเกะ กลางเดือนหน้าในการประชุมศบค.ที่ผ่านมา แต่คุณหมอเองมั่นใจกว่าบอกว่า เปิดได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย.นี้ได้เลย" 

 

นายอนุทินกล่าวอีกว่า เวลานี้ปลัดสาธารณสุขรายงานว่า เราคุมสถานการณ์การระบาดได้แล้ว จับปัญหาได้ตรงแล้ว ผลจากโควิด-19จากนี้ไปจะไม่เจ็บหนัก ไม่เสียชีวิต ถ้าไม่ใช่กลุ่มผู้สูงวัยและมีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ถ้าได้รับวัคซีนครบสูตรแล้วจะเสียชีวิตน้อยมาก ที่ผ่านมาเราอยู่ในวงจรที่คิดว่าโควิดเอาอะไรไปจากเรา เราเสียอะไรไปบ้าง ที่เสียใจกันมากที่สุดคือเสียชีวิต ที่เราเสียใจกันทุกคน 

 

แต่วันนี้ถึงเวลาเดินต่อ โดยผลสำเร็จการรับมือโควิด-19 ของไทยที่ผ่านมา ทำให้ไม่ว่าจะเป็นระดับองค์กร หรือประเทศ ทุกครั้งที่มีการจัดอันดับ ประเทศไทยเราไม่เคยหลุดท็อป 10 การบริหารจัดการระบบสาธารณสุขที่ดีของโลกทุกครั้ง ไม่เพียงมีหมอ มียา มีเตียง มีองค์ความรู้ ที่ทำให้เราดูแลประชาชนมาได้

 

นายอนุทินกล่าวอีกว่า สปสช.ตั้งมา 20 กว่าปี ตามกฎหมายให้รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธานสปสช. ขณะเดียวกันต้องกำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุขควบคู่กันไปด้วย องค์ประกอบแบบนี้ไม่อนุญาตให้สปสช.ทะเลาะกับกระทรวงสาธารณสุขได้ ซึ่งการระบาดเชื้อโควิด-19 ทุกฝ่ายต้องทำงานประสานร่วมมือกัน และโชคดีที่ทุกฝ่ายเข้าใจเป้าหมายของผมที่ต้องดูแลคนไทยทุกคน และทุกคนร่วมมือกันเพื่อทำให้ไปสู่เป้าหมาย

 

ช่วงโควิดต้องลงตรวจงานสาธารณสุขทุกพื้นที่ ได้รับข้อมูลจากนายแพทย์ที่ดูแลหน่วยคลีนิคโรคไต สะท้อนปัญหาว่า การฟอกเลือดผู้ป่วยโรคไตฟรีเฉพาะกรณีเปิดหน้าท้อง แต่ฟอกแบบอื่นยังมีค่าใช้จ่าย จนทำให้ผู้ป่วยบางคนสะท้อนว่า "อย่างนี้เลือกตายดีกว่า" ฟังแล้วสะอึกว่า ปัญหานี้ถ้ารัฐมนตรีสาธารณสุขแก้ไม่ได้ต้องลาออกไปเสีย จึงได้ประสานกับสปสช. เพื่อให้ขยายการดูแลผู้ป่วยโรคไตเพิ่ม ที่สุดได้ข้อยุติร่วมกัน เมื่อทางกระทรวงรองรับได้ ว่าต่อไปฟอกเลือดโรคไตฟรีทั้งหมด 

 

หรือกรณีตรวจเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียง ที่บางบ้านเป็นคนไข้ติดเตียงจริง ๆ และขาดคนดูแล เพราะไม่มีญาติพี่น้อง หรือพี่น้องวัยใกล้เคียงต้องดูแลกันเอง จนถึงวันนี้ก็ดูแลต่อไม่ได้ สปสช.จับมือกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบผ้าอ้อมอนามัยให้ผู้ป่วยติดเตียงสูงวัยวันละ 3 แผ่น ซึ่งจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ พร้อมประสานให้อสม.เป็นกลไกเข้าไปตรวจเยี่ยมเป็นระยะ 

 

นายอนุทินย้ำว่า การกำกับดูแลงานสาธารณสุขของตนนั้น พร้อมรับฟังและเร่งแก้ไขในทุกปัญหา อะไรที่ขาด เก็บทุกเม็ด เต็มเติมทั้งหมด เพื่อขับเคลื่อนงานให้บรรลุเป้าหมาย 

 

ส่วนอนาคตจากระบบบริการสาธารณสุขไทยนั้น รัฐมนตรีสาธารณสุขกล่าวว่า การระบาดโควิดทำให้ประชาชนไทยตระหนักในเรื่องสาธารณสุข ด้านสุขอนามัยเข้มข้นขึ้น และทำให้เวลาประเทศไทยไปเสนอตัวขอดึงฮับด้านสุขภาพต่าง ๆ มาไว้ในประเทศก็ได้รับการรับรอง อาทิ ศูนย์บริการสาธารณสุขชะลอวัย ศูนย์สุขภาพก้าวหน้าต่าง ๆ เป็นต้น

 

เนื่องจากเรามีครบทั้ง 3 หลัก คือ ด้านการป้องกัน ด้านการสืบค้นหาโรค และด้านการตอบสนองในการดูแลรักษา การมีศูนย์สุขภาพก้าวหน้าด้านต่าง ๆ เข้ามาตั้งอยู่ในประเทศไทย จะช่วยเสริมให้นานาชาติมั่นใจประเทศไทยว่า เวลาเข้ามาในประเทศหากมีปัญหาด้านสุขภาพใด ๆ ขึ้น ก็สบายใจได้ ว่าจะได้รับบริการด้านสารณสุขที่ได้มาตรฐานระดับสากล 
    

"สิ่งใดที่โควิดเอาไปต่อจากนี้ไปต้องมองว่าเป็นการลงทุน เป็น Capital Expenditure ที่ต้องให้กลับคืนมาให้มากที่สุด ทำให้สุขภาพของประชาชนไทยดีขึ้น ระบบสาธารณสุขของประเทศเข้มแข็ง และเสริมความเชื่อมั่นนานาชาติให้สูงขึ้น" 

 

รองนายกฯและรัฐมนตรีสาธารณสุข ย้ำตอนท้ายว่า จากนี้ไปกระทรวงสาธารณสุขจะมุ่งใช้บริการสาธารณสุข เป็น Health for Wealth เพราะเมื่อมีบริการสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ผู้คนสุขภาพดี ก็สามารถเสริมสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต สุขภาพดี เศรษฐกิจดี สังคมดี และเมื่อไทยสามารถสร้างปัจจัยด้านสุขอนามัยได้คุณภาพและครบถ้วน ผู้คนก็จะกล้ามาเที่ยวมาลงทุนในประเทศ โดยรัฐบาลได้อนุมัติแผนยกระดับภูเก็ตเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ระดับสูง (Medical  Hub) ไปแล้ว และต้องมีศูนย์สุขภาพผู้สูงวัย ศูนย์สุขภาพเฉพาะทางอื่น ๆ อย่างครบถ้วน

 

\"อนุทิน\"ลั่นขับเคลื่อน\"Health for Wealth\"สาธารณสุขไทยระดับโลก 

รวมถึงยกระดับการใช้ประโยชน์จากกัญชา ที่เวลานี้อย.อนุมัติคำขอไม่หวาดไม่ไหว โดยมีการพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทั้งเครื่องดื่มสารพัดสูตร อาหารสุขภาพ และสินค้าหลากหลาย เป็นการใช้ซอฟท์ เพาเวอร์จากทรัพยากรธรรมชาติและองค์ความรู้ภายใน ต่อยอดให้ไปเดินในตลาดโลกได้ 

 

สุดท้ายความก้าวหน้าเทคโนโลยีดิจิทัล เปิดทางให้บริการสาธารณสุขก้าวสู่เทเลเมดิซีน ทำให้หมอนั่งอยู่ที่ห้องทำงาน สามารถส่องกล้องตรวจคุณตาคุณยายที่อยู่บนเขาบนดอยได้ เป็นอนาคตของบริการสาธารณสุขไทย ที่จะเสริมสร้างให้ไม่เพียงเป็นเมืองไทยที่ดีกว่า แต่จะเป็นเมืองไทยที่ดีที่สุด เป็น The Best Thailand