จี้คุมเข้มมาตรฐาน “ทุเรียน” ฝ่าด่าน Zero Covid ยืนหนึ่งตลาดจีน

19 พ.ค. 2565 | 07:25 น.

สมาคมทุเรียนไทย แนะภาครัฐ เกษตรกร ผู้ส่งออก คุมเข้มคุณภาพทุเรียน มาตรฐาน GAP-GMP+ พร้อมเดินหน้าขยายตลาดในจีนและต่างประเทศ มุ่งยืนหนึ่งในใจผู้บริโภค เหนือประเทศเพื่อนบ้านที่เริ่มบุกตลาดจีน

นายภาณุศักดิ์  สายพานิช นายกสมาคมทุเรียนไทย (TDA)  กล่าวในงานสัมมนา The Big Issue 2022 : ผลไม้ไทย ผลไม้โลก ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน Zero Covid ช่วงเสวนาปฏิบัติการรวมพลัง ทุเรียนแสนล้าน ฝ่าด่าน ZERO COVID ว่า บทบาทหน้าที่ของสมาคมทุเรียนไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนผลไม้ทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ จะมุ่งเน้นการสร้างให้ทุเรียนไทยเป็นอันดับ 1 ในใจผู้บริโภคทั่วโลกอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์รวมของอุตสาหกรรมทุเรียนครบวงจรทั้งการผลิต แปรรูป ส่งออกไปตลาดทั่วโลก 

 

ขณะเดียวกันจะมุ่งแก้ปัญหาที่เกิดกับโครงสร้างทุเรียนไทย การส่งเสริมด้านการตลาด ซึ่งปัจจุบันในประเทศจีน ทุเรียนไทยมีออฟฟิตเชียล แอคเคาน์ใน Weibo ซึ่งนอกจากจำหน่ายยังให้ข้อมูลกระบวนการผลิต วิธีรับประทาน การแปรูป มาตรฐานควบคุมคุณภาพ GAP, GMP+

ภาณุศักดิ์  สายพานิช

ทั้งนี้ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนไทยต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งปริมาณฝนที่ตกชุก  ทุเรียนออกดอกช้าทำให้ผลผลิตช้า  การสลัดลูกอ่อน เชื้อราทั้งลำต้นและลูก รวมถึงปัญหา Zero Covid ของทางจีน ซึ่งเริ่มส่งสัญญาณให้เห็นตั้งแต่ปลายปีก่อน หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้าน ประสบปัญหาจากการส่งออกแก้วมังกร ที่ถูกแบนเป็นระยะเวลา 1 เดือน

 

รวมถึงลำไยของไทย  ทำให้สมาคมต้องจับมือกับภาคเอกชนหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกับจีน รวมทั้งจับมือกับพันธมิตรนำข้อมูลไปวิจัยเพื่อหาแนวทางป้องกัน ควบคุมคุณภาพเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคจีน

ทุเรียน

ด้านผลผลิตของทุเรียนในภาคตะวันออกของปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดราว 7.44 แสนตัน เติบโตขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนซึ่งมีปริมาณผลผลิต 5.7 แสนตัน  ขณะที่การส่งออกในปี 2564 มีปริมาณ 8.8 แสนตัน ซึ่งปีนี้ในช่วงเดือนก.พ.-เม.ย. พบว่ามีปริมาณการส่งออกลดลง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุอาทิ ฝนตกชุกทำให้ผลผลิตออกช้า และเชื้อรา โดยพบว่าตั้งแต่ม.ค. จนถึงปัจจุบันมียอดการส่งออกแล้วราว 2.6 แสนตัน ขณะที่การบริโภคและแปรรูปในประเทศราว 3 แสนตัน  

 

จากข้อมูลกรมวิชาการเกษตร พบว่า ปริมาณการส่งออกทุเรียนไปจีน ตั้งแต่ 1 ก.พ-16 พ.ค. 2565 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น  2.42 แสนตัน แบ่งเป็น การขนส่งทางบก 8.2 หมื่นตัน การขนส่งทางเรือ 1.41 แสนตัน และการขนส่งทางอากาศ 1.8 หมื่นตัน

 

 

“ยังต้องรอดูสถานการณ์การส่งออกทุเรียนไทยไปจีน ในเดือนพ.ค. – มิ.ย. นี้ ซึ่งเบื้องต้นไทยเองต้องเคร่งครัดการดำเนินการมาตรฐาน GMP+ เพื่อไม่ให้มีเชื้อโควิดหลุดรอดไป อย่างไรก็ดีต้องรอดูจนถึงวันที่ 10 มิ.ย. นี้ หากระบายผลผลิตทุเรียนได้ ปัญหาต่างๆ จะลดลงเพราะพ้นช่วงผลผลิตกระจุกตัว อย่างไรก็ดีทั้งภาครัฐ เกษตรกร และผู้ส่งออกยังต้องเข้มข้นกับมาตรการ GMP+ เพราะไม่รู้ว่าจีนจะคง Zero Covid อีกนานแค่ไหน”

ทุเรียน

นายกสมาคมทุเรียนไทย   กล่าวอีกว่า วันนี้แม้ผู้ส่งออกไทยจะขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ แต่ต้องทำควบคู่กับตลาดจีนไป เพราะเป็นตลาดหลักมีสัดส่วนการส่งออกถึง 90% รวมทั้งการโปรโมตทุเรียนในหลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างให้ทุเรียนไทยเป็นเบอร์ 1 ในใจผู้บริโภคจีน 

 

เพราะวันนี้ไทยกำลังเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งเวียดนามที่มีจุดแข็งด้านการขนส่งที่ถูกกว่า  และสปป.ลาว ที่มีโควต้าส่งออกทุเรียนไปจีนได้ ดังนั้นไทยต้องทำการตลาด ทำผลผลิตต้นทางให้มีคุณภาพดี ทำห่วงโซ่ทุเรียนไทยให้มีความยั่งยืนในอนาคต