แรงงานนอกระบบ เฮ! ครม.สั่งปรับกฎหมายขยายความคุ้มครอง

18 พ.ค. 2565 | 03:40 น.

มติครม. ล่าสุด รับทราบข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ สั่งกระทรวงแรงงาน กำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎหมายขยายความคุ้มครองประกันสังคมกลุ่มแรงงานนอกระบบ ส่วนจะเป็นเรื่องไหนบ้าง เช็คเลย

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด มีมติรับทราบข้อเสนอสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563 มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมกลุ่มแรงงานนอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายและปรับปรุงกฎหมาย เสนอเข้ามาโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 

 

โดยครม.สั่งการไปยังกระทรวงแรงงาน หาช่องทางในการดำเนินการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา พร้อมทั้งให้รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

 

นายกรัฐมนตรี ประชุมครม. เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล

สำหรับเรื่องนี้ มีต้นเรื่องมาจากผลประชุมคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 ได้ทบทวนประเด็นข้อเรียกร้องจากการประชุมสมัชชาสตรีระดับชาติ ปี 2563 จำนวน 4 ประเด็น

 

โดยมีข้อเสนอที่สามารถพัฒนาไปสู่การเป็นนโยบาย ยุทธศาสตร์หรือมาตรการได้ จำนวน 8 ประการ ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วและปรากฏว่ายังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการ 

 

โดยเฉพาะข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเกี่ยวกับงานของผู้หญิง ที่เสนอกำหนดนโยบายให้ผู้หญิงเข้าถึงการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในแรงงานทุกอาชีพ (ทั้งในระบบและนอกระบบ)

 

จากการพิจารณาที่ประชุมก็ได้มีมติเห็นชอบ โดยกำหนดให้การพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องในการขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ เป็นประเด็นที่จะพัฒนาไปสู่นโยบาย ยุทธศาสตร์ หรือมาตรการ เพื่อเสนอครม. และให้กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักพิจารณาปรับปรุงกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม กระทรวง พม. ยังรายงานว่า จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 ระบุ แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ของประเทศ คิดเป็น 53.8% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด (20.4 ล้านคน) ในจำนวนนี้มีผู้หญิงอยู่เกือบครึ่งหนึ่ง (9.2 ล้านคน) โดยเฉพาะในภาคการค้าและการบริการ 

 

แม้ว่าแรงงานนอกระบบจะเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่แรงงานนอกระบบเหล่านี้ยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ทั้ง ความปลอดภัยในการทำงาน หลักประกันทางสังคม ตลอดจนการรวมกลุ่มเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม 

 

ดังนั้นการพัฒนากฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองและขยายการประกันสังคมให้ครอบคลุมและเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ จะนำไปสู่การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม สร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสม 

 

โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่เป็นสตรี ซึ่งมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ประเด็นยุทธศาสตร์การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

 

สรุปได้ว่า ขณะนี้แนวทางการขยายความคุ้มครองประกันสังคมให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบ ให้เข้าถึงการประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในแรงงานทุกอาชีพ กำลังจะมีความชัดเจนหลังแล้วจากครม. เห็นชอบแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงกฎหมายออกมารองรับ