ผ่ามติครม. 17 พ.ค. รัฐบาลจัดหนัก อนุมัติงบกระจาย

17 พ.ค. 2565 | 14:11 น.

ที่ประชุม ครม. 17 พ.ค. จัดหนักอนุมัติการจัดสรรงบประมาณจัดเต็มทั้งงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบจัดการน้ำ งบช่วยชาวนา ยันงบพีอาร์เอเปค พร้อมเห็นชอบอนุมัติลุย 3 โครงการภาคต่อ

วันนี้ 17 พ.ค. ที่ประชุม ครม.อนุมัติงบประมาณหลายรายการเริ่มจากการเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ จำนวน 64 คน ซึ่งนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. เห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท โดยขั้นตอนต่อไปตามปฏิทินงบประมาณ จะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

 

สำหรับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

  • รายจ่ายงบกลาง 590,470 ล้านบาท 
  • รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,090,329 ล้านบาท 
  • รายจ่ายบูรณาการ 218,477 ล้านบาท 
  • รายจ่ายบุคลากร 772,119 ล้านบาท 
  • รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 206,985 ล้านบาท 
  • รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 306,618 ล้านบาท

 

 

ทั้งนี้ ครม.ยังเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 64 คน ประกอบด้วยกรรมาธิการ ฯ ที่คณะรัฐมนตรีเสนอชื่อ 16 คนโดยเป็นข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ซึ่งไม่เกินหนึ่งในสี่ของจำนวนคณะกรรมาธิการวิสามัญ ฯ โดยที่ระบุไว้แล้ว จำนวน 4 คน ได้แก่

  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
  • รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
  • ปลัดกระทรวงการคลัง
  • ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

สำหรับกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนพรรคการเมือง จำนวน 48 คน แบ่งเป็น

  • ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 27 คน
  • ส.ส. ฝ่ายค้านจำนวน 21 คน

 โดยทั้งหมดต้องผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ต่อไป

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติกรอบวงเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 เพิ่มเติม 594.64 ล้านบาท รวมวงเงินโครงการทั้งสิ้น 55,567.36 ล้านบาท ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยจ่ายเงินช่วยเหลือให้เกษตรกรในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาระต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและจูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาข้าวให้มีคุณภาพดี 

 

พร้อมกับเห็นชอบขยายระยะเวลาโครงการออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 จะเดิมที่สิ้นสุด 31 พฤษภาคม 2565 และขยายระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 จากเดิมที่สิ้นสุด 30 เมษายน 2565นี้

 

 

ขณะเดียวกัน ครม.ยังไฟเขียวแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินรวม 3.34 แสนล้านบาท เกือบ 60,000 รายการ  จาก 26 หน่วยงาน 77 จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเมื่อแยกตามลุ่มน้ำจะมีรายการที่สำคัญ อาทิ 

  • ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 2,521 รายการ วงเงิน 53,118 ล้านบาท
  • ลุ่มน้ำมูล 6,683 รายการ วงเงิน 34,723  ล้านบาท
  • ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ 10,302 รายการ วงเงิน 29,589 ล้านบาท
  • ลุ่มน้ำชี 5,889 รายการ วงเงิน 27,887 ล้านบาท
  • ลุ่มน้ำท่าจีน 1,542 รายการ วงเงิน 21,275 ล้านบาท
  • ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน 1,499 รายการ วงเงิน 17,875 ล้านบาท เป็นต้น

 

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วงเงินมากที่สุด 159,226 ล้านบาท 15,862 รายการ รองลงมาเป็น กระทรวงมหาดไทย 142,115 ล้านบาท  22,194 รายการ , กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 22,170 ล้านบาท 20,971 รายการ , กระทรวงคมนาคม 6,274  ล้านบาท 61 รายการ , สำนักนายกรัฐมนตรี 2,135 ล้านบาท 77 รายการ , กระทรวงกลาโหม 1,264 ล้านบาท 133 รายการ , กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 645 ล้านบาท 29 รายการ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 398 ล้านบาท  5 รายการ


และล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบอนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 งบกลางจำนวน 399,572,400 ล้านบาท โครงการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี พ.ศ. 2565  และผลงานสำคัญของรัฐบาลให้กรมประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย โดยเบิกจ่ายในงบรายจ่ายอื่น ลักษณะค่าตอบแทนใช้สอยและวัสดุ โดยใช้รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ที่กระทรวงการคลังอนุมัติให้ขยายเวลาเบิกจ่ายเงินงบประมาณถึงวันทำการสุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน 2565


 

นอกเหนือจากการอนุมัติวงการสำหรับโครงการข้างต้นแล้ว ครม.ยังเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท ระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. - 20 ก.ค.2565 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงที่ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

 

พร้อมกับอนุมัติแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบบูรณาการการทำงานเชิงรุกในการรองรับสังคมสูงวัย อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้วเมื่อปี 2564 

 

สำหรับแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะที่ 3 (พ.ศ.2566-2580) ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม โดยมีวัตถุประสงค์คือ 1)เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางปฏิบัติงานด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่อง 2)เพื่อเพิ่มคุณค่าและศักดิ์ศรีของผู้สูงอายุ 3)เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกมิติ 4)เพื่อรองรับสังคมสูงวัยเชิงรุก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 – 59 ปี

 

ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นผู้สูงอายุในอีก 1 - 35 ปีข้างหน้า ให้ได้ตระหนักและเตรียมพร้อมการใช้ชีวิตที่ดีในยามสูงอายุ สำหรับการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุฯ ฉบับนี้ จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนใน 5 ปีแรก (พ.ศ.2566-2570) และแผนปฏิบัติการระยะ 15 ปี (พ.ศ.2566-2580)



และนอกจากนี้ครม.เห็นชอบการต่ออายุความตกลงว่าด้วยการก่อตั้งศูนย์อาเซียน -ญี่ปุ่น (ASEAN – Japan Centre : AJC) ออกไปอีก 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 - 24 พฤษภาคม 2570 และมอบหมายให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในสมาชิกคณะมนตรีของศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น เป็นผู้แทนในการลงนามให้การรับรองต่ออายุความตกลงฯครั้งนี้

 

โดยสาระสำคัญ คือ วัตถุประสงค์เพื่อการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประเทศสมาชิกอาเซียน โดยการส่งเสริมการค้าจากประเทศสมาชิกอาเซียนไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้ากึ่งสำเร็จรูป การส่งเสริมการไหลเวียนของการลงทุน รวมถึงการถ่ายทอดทักษะ และเทคโนโลยีระหว่างญี่ปุ่นและประเทศสมาชิกอาเซียน การกระตุ้นการท่องเที่ยวทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น