"ลักลอบนำเข้าหมู" กระทบ 3 เด้ง รายย่อยเลิกเลี้ยงแล้ว 50% กู่กลับยาก

14 พ.ค. 2565 | 04:28 น.

วลัญช์ ศรัทธา นักวิชาการด้านปศุสัตว์ เขียนบทความเรื่อง หยุดลักลอบนำเข้าหมู หยุดหายนะเข้าประเทศ ในความสำคัญว่า

 

สถานการณ์การเลี้ยงหมูที่ยากลำบากมากขึ้นจากมาตรการป้องกันโรคระบาด และมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก จากราคาข้าวโพดอาหารสัตว์และธัญพืชวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เกษตรกรหายไปจากระบบแล้วกว่า 50%

 

ส่วนเกษตรกรที่ยังพอรับมือสถานการณ์ได้ ก็อดทนเลี้ยงหมูด้วยต้นทุนที่สูง บนราคาขายที่ใกล้เคียงต้นทุน เพราะหากราคาขายสูงเกินไป ผู้บริโภคก็หันไปเลือกบริโภคโปรตีนชนิดอื่นทดแทนนับว่าเป็นชีวิตที่น่าเห็นใจ และเป็นอาชีพที่เสียสละในความพยายามรักษาความมั่นคงทางอาหาร ช่วยให้ประเทศไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าหมูอย่างที่ประเทศอื่นต้องประสบ 

 

"ลักลอบนำเข้าหมู" กระทบ 3 เด้ง  รายย่อยเลิกเลี้ยงแล้ว 50% กู่กลับยาก

 

อย่างไรก็ดีกลับพบว่ามีคนบางกลุ่มกำลังพยายามผลักดันให้เกิด “การนำเข้าหมู” เพื่อยกระดับการลักลอบนำเข้าซึ่งผิดกฎหมายให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ทั้ง ๆ ที่การนำเข้าหมูต่างถิ่นมีข้อเสียที่จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติหลายประการ ได้แก่

 

"ลักลอบนำเข้าหมู" กระทบ 3 เด้ง  รายย่อยเลิกเลี้ยงแล้ว 50% กู่กลับยาก

 

  • ผลกระทบต่อเกษตรกร

จากประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว หลังต้องสูญเสียเกษตรกรไปกว่า 50% จากภาวะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ระบาด ที่ส่งผลให้ปริมาณหมูน้อยลงอย่างมากจนถึงปัจจุบัน 

 

การจะกลับเข้าสู่ระบบได้ เกษตรกรต้องลงทุนในมาตรการป้องกันโรคอย่างดีที่สุด และแน่นอนว่า ต้องมั่นใจด้วยว่าเขาจะสามารถขายผลผลิตได้คุ้มค่ากับต้นทุน  การนำเข้าเนื้อหมูจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาถูกเนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ประเทศตะวันตกไม่รับประทาน หรือเท่ากับส่งสิ่งที่เป็นขยะเข้ามาแข่งขันกับผลผลิตของเกษตรกรในประเทศไทย ย่อมบั่นทอนความมั่นใจและทำให้เกษตรกรหมดแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพนี้อีกครั้ง

 

นอกจากนี้ หมูในแต่ละภูมิภาคมีโรคประจำถิ่นที่แตกต่างกัน การเข้ามาของเนื้อหมูต่างถิ่น มีโอกาสสูงในการนำเชื้อโรคเข้ามาปะปนในวงจรการเลี้ยงหมู ซึ่งอาจส่งผลกระทบในระยะยาวต่อการเลี้ยงหมูของเกษตรกร รวมถึงอุตสาหกรรมหมูของประเทศ

 

 

  • ผลกระทบต่อผู้บริโภค

ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วย พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ ที่ต้องปราศจากสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมีอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค  เนื้อหมูจากต่างประเทศไม่มีข้อห้ามในเรื่องนี้  และบางแห่งสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างเสรี สารดังกล่าวคือสารในกลุ่มเบต้าอะโกรนิสต์ เช่น เคล็นบิวเทอโรลและซัลบูตามอล เป็นส่วนผสมของตัวยารักษาผู้ป่วยโรคหอบหืด เนื่องจากมีคุณสมบัติในการขยายหลอดลมและช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว แต่อาจมีผลข้างเคียงทำให้ผู้ที่ได้รับสารตกค้างนี้มีอาการกล้ามเนื้อสั่น หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนและปวดศีรษะ นับเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค  รัฐไม่ควรนำสุขภาพของคนไทยมาเสี่ยงกับการนำเข้าหมูที่มีสารตกค้างและตรวจสอบยาก      

 

  • ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชาติ

หากประเทศไทยนำเข้าหมูมาบั่นทอนเกษตรกรคนเลี้ยงหมู ไม่มีคนกลับสู่ระบบ ย่อมเท่ากับทำลายผู้ผลิตอาหาร ทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศ คนไทยต้องพึ่งพาหมูต่างชาติตลอดเวลา ไม่สามารถเลี้ยงหมูกินเองได้เหมือนในอดีต เมื่อนั้นหายนะจะส่งตรงถึงทุกครัวเรือน ผลกระทบจะเกิดเป็นโดมิโนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ ภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่ที่ต้องล่มสลายไปพร้อมกัน เป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศเต็มรูปแบบ หายนะย่อมเกิดกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติในที่สุด 

 

บทสรุป ปัจจุบันมีขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อหมู โดยเฉพาะจากประเทศเพื่อนบ้านแถบภาคอีสานรวมถึงประเทศตะวันตก เข้ามาปะปนขายกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งกวดขันจับกุมและกวาดล้าง ไม่เท่านั้นยังมี  “ไอ้โม่ง” วิ่งเต้นให้การลักลอบดังกล่าวเป็นเรื่องถูกกฎหมายขึ้นมา ซึ่งหวังว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจะไม่หลงกลเปิดทางสะดวกให้คนบางกลุ่มหาประโยชน์เข้าตัว แต่นำเข้าหายนะให้คนในประเทศต้องเดือดร้อนกันทั้งระบบ

 

นอกเหนือจากการไม่นำเข้าแล้ว รัฐควรสนับสนุนให้เกษตรกรกลับสู่ระบบให้เร็วที่สุดด้วยการสร้างความมั่นใจว่าการลงทุนลงแรงเลี้ยงหมูของพวกเขาจะสามารถขายผลผลิตได้ตามกลไกตลาด หรือ หลักอุปสงค์-อุปทาน ไม่ใช่เลี้ยงไปแล้วต้องสุ่มเสี่ยงกับการถูกควบคุมราคาขาย เพราะกลไกตลาดจะขับเคลื่อนให้ทุกอย่างเข้าสู่สมดุลได้อย่างเหมาะสม