ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพงฉุดดัชนีเชื่อมั่นเม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่4

10 พ.ค. 2565 | 06:47 น.

หอการค้าฯเผยค่าครองชีพสูงน้ำมันแพงฉุดดัชนีเชื่อมั่นเมย.ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่4แตะ40.7ต่ำสุดรอบ8เดือนหนุนคนละครึ่งเฟส5พยุงเศรษฐกิจ ชี้ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขค่าครองชีพและลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนเมษายน 2565 พบว่า ดัชนีมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ในระดับ 40.7 ซึ่งเป็นดัชนีที่ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ

เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง และอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

 

ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพงฉุดดัชนีเชื่อมั่นเม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่4

นอกจากนี้การที่ระดับราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและปัญหาราคาสินค้าแพง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 34.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 49.6

ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพงฉุดดัชนีเชื่อมั่นเม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่4

โดยศูนย์พยากรณ์ฯ อยากให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ภายในเดือนมิถุนายน เพื่อช่วยพยุงให้เศรษฐกิจในช่วงที่กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวสามารถประคองตัวอยู่ได้ และดูแลราคาน้ำมันไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว เพราะมองว่าประชาชนไม่สามารถรับได้กับราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องเดินหน้าในการเปิดประเทศทำให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศ มากระตุ้นเศรษฐกิจให้ยังขยายตัวได้ร้อยละ 3.5 ในปีนี้

ค่าครองชีพพุ่ง-น้ำมันแพงฉุดดัชนีเชื่อมั่นเม.ย.ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่4

ด้านนายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องการให้รัฐบาลแก้ไข คือการดูแลค่าครองชีพ และลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการให้มากขึ้น ในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว ดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศให้สะดวกมากขึ้น และดูแลสินค้าส่งออกของไทยที่ติดปัญหาไม่สามารถส่งออกไปยังปลายทางได้ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น อาทิ การเจราจาเปิดด่านการค้า เพื่อช่วยในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงการกระตุ้นให้ประชาชนทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้ดีขึ้น