นักเศรษฐศาสตร์กังวล ศักยภาพ กลุ่ม Gen Z – alpha

05 พ.ค. 2565 | 11:25 น.

“ศิวะ หงษ์นภา” ชี้ประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เมื่อโครงสร้างประชากรเปลี่ยน แนะปฏิรูปการศึกษาให้ยืดหยุ่น เพิ่มศักยภาพเด็ก Gen Z – alpha สร้างความมั่นคงทางรายได้

ขณะที่หลายคนมองว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในอัตรากว่า 10% หรือประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปในอัตรากว่า 7% จึงต้องเตรียมแผนรองรับในระยะยาว แต่อัตราการเกิดของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไร    

 

บทความเรื่อง  “ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปนับจากนี้” โดย ศิวะ หงษ์นภา  ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ นำเสนอ ได้อย่างน่าสนใจ โดย  “ศิวะ” ระบุว่า

 

Gen X มีคนเกิดเฉลี่ย 1,000,000 คนต่อปี คน gen Y เฉลี่ยประมาณ 7-8 แสนคนต่อปี คน gen Z และ alpha เฉลี่ยประมาณ 5 – 6 แสนคนต่อปี

 

ช่วงที่ gen X เป็นกำลังหลักในกลุ่มคนวัยทำงาน รายได้ทั้งหมดรวมกันของคน gen X จึงเพียงพอที่จะเลี้ยงคน gen B และ gen post war ที่เป็นรุ่นพ่อแม่เค้า และ gen Y และ gen Z บางส่วนที่เป็นรุ่นลูกเค้า ทั้งในรูปแบบทางตรงที่พวกเค้าจ่ายตรงให้กับพ่อแม่และลูก ๆ ของเค้าด้วยตนเอง

สัดส่วนประชากรของประเทศไทย

และในทางอ้อมที่เค้าจ่ายผ่านการเสียภาษีไปให้คนรุ่นพ่อแม่ของเค้าในรูปของเงินเดือนเกษียณของข้าราชการหรือเงินอุดหนุนอื่นสำหรับคนที่ไม่ใช่ข้าราชการ และเงินช่วยค่าเล่าเรียนของเด็กที่ไม่ใช่ลูก ๆ ของเค้าโดยตรง ในรูปของเงินอุดหนุนจากรัฐ

 

แต่คน Gen Z และ alpha ที่มีคนเกิด 5 – 6 แสนคนต่อปี ถ้าความสามารถของเค้าเท่ากับคน gen X เมื่อถึงช่วงเวลาที่เค้าต้องกลายมาเป็นกลุ่มคนวัยทำงานหลักของประเทศ ประเทศจะไม่มีทางเก็บภาษีให้เพียงพอที่ทำให้รายได้ที่จะได้จากคนกลุ่มนี้มาเลี้ยงคน gen X และ gen Y ซึ่งเป็นรุ่นพ่อแม่และปู่ย่าของพวกเค้าได้เลย

 

คิดด้วยคณิตศาสตร์อย่างง่าย ประเทศเราจะดำรง status quo ทางการคลังไว้ได้ กลุ่มเด็ก gen Z และ alpha จะต้องมีความสามารถในการหารายได้ (ที่แท้จริง – in real term) เป็นสองเท่าของคน gen X และ gen Y ถ้าทำไม่ได้ แม้แต่ข้าราชการที่เกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้าก็อาจจะได้รับเงินบำนาญไม่เต็มหรือ in worst case ไม่ได้รับเงินบำนาญเลยก็ได้ เพราะรัฐบาลเก็บภาษีได้น้อยเกินไป

ศิวะ หงษ์นภา

ความน่ากลัวคือ เด็กที่เกิดมาส่วนใหญ่ในตอนนี้ เกิดจากครอบครัวที่ไม่มีความพร้อมทางเศรษฐกิจ และระบบการศึกษาไทย ยังเป็นระบบที่ส่งเสริมเด็กเก่งและเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ดี ด้อยค่าเด็กไม่เก่ง (ตามความคิดของคุณครู gen B และ gen X) และเด็กที่ครอบครัวฐานรายได้น้อย ทำให้เด็กจำนวนมากถูกผลักออกไปจากโอกาสที่เค้าควรจะมี และกลายเป็นคนที่มีความสามารถในการหารายได้ต่ำ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ที่พูดถึงข้างต้นคงจะเยอะมาก

 

ทางแก้ทางเดียว คือ ต้องหาทางทุกวิถีทางให้เด็กและเยาวชนทุกคนเป็นคนที่มีความสามารถในการหารายได้มากกว่าคน gen X และ gen Y มาก ๆ (อย่างน้อย 2 เท่า in real term) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูประบบการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นกว่าเดิมอย่างมาก ๆ ไม่ใช่เป็นระบบที่ secure ความมั่นคงทางรายได้ทั้งในปัจจุบันหรืออนาคตของบุคลากรทางการศึกษา

 

แต่เป็นระบบที่ secure ความมั่นคงทางรายได้ให้กับเด็ก ๆ (ซึ่งอาจจะต้องแลกด้วยความมั่นคงทางรายได้ของบุคลากรทางการศึกษา) และที่สำคัญ ต้องพยายาม reset mind set ใหม่ของคนไทยทั้งประเทศให้เหมือนกับคนญี่ปุ่น (ตามที่เคยได้ยินมา) คือ “ลูกของทุกคนในประเทศไทย คือลูกของคนไทยทุกคน”