เศรษฐศาสตร์ในโลกเสมือนจริง

13 ต.ค. 2564 | 10:36 น.

เศรษฐศาสตร์ในโลกเสมือนจริง : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,722 หน้า 5 วันที่ 14 - 16 ตุลาคม 2564

ในช่วงที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ยินคำว่า Metaverse กันพอสมควร เนื่องด้วย Mark Zuckerberg แห่ง Facebook ได้ประกาศว่า Facebook จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ Social Media Company อีกต่อไป แต่ Facebook ต้องการจะกลายเป็น Metaverse Company  

 

ดูเหมือนว่าในโลกอนาคต เราคงจะไม่ได้อยู่กันแค่ที่ Social Media แบบเดิมๆ ที่เรารู้จักแล้ว แต่เราอาจจะย้ายกันเข้าไปอยู่ใน Metaverse (โลกเสมือนจริงที่รวมมิติ AR/VR เข้าด้วยกัน - ลองนึกภาพโลกแบบในหนังเรื่อง The Matrix)  

 

นอกจากนี้ Facebook เพิ่งเปิดตัวแว่นอัจฉริยะ Ray-Ban Stories ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะให้ผู้คนสามารถก้าวเข้าไปอยู่ในโลก Metaverse นี้ได้ด้วยกัน ในราคาที่ไม่แพงเกินไปนัก

 

ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า สุดท้ายแล้วโลก Metaverse จะหน้าตาอย่างไร แต่ที่แน่ๆ บริษัท Technology ใหญ่ๆ ของโลกต่างมองว่า นี่น่าจะเป็นอนาคตที่น่ากระโดดเข้าไป เพราะนอกจาก Facebook แล้วก็มี Microsoft, Alibaba, Tencent ที่ดูเหมือนกำลังสนใจที่จะสร้าง Metaverse ขึ้นมาเหมือนกัน  

 

ส่วนในประเทศไทยก็มีบริษัท T&B Media Global ที่ได้ประกาศแล้วว่าจะสร้าง Metaverse Translucia ขึ้นและมี Partner เจ้าแรกที่เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ MQDC ที่วางแผนว่าจะไปพัฒนาและขายโครงการที่จะอยู่ใน Metaverse นี้

 

ฟังดูน่าตื่นตาตื่นใจและน่าทึ่งมากทีเดียว แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากจะชวนคุยต่อคือ เรื่องระบบเศรษฐกิจที่น่าจะเกิดขึ้นในโลก Metaverse 

 

ลองนึกภาพว่า หากคนเข้าไปใช้เวลาอยู่ที่นี่มากขึ้น มีการสร้างสินค้าและบริการเกิดขึ้น ก็จะต้องเกิดการซื้อขายและเกิดกลไกตลาดขึ้น ราคาก็จะถูกกำหนดโดย Supply กับ Demand  ซึ่งในโลกปกติถ้าสินค้าเป็นของหายากมีการผลิตน้อย ประกอบกับมีคนอยากได้มาก สินค้านั้นก็จะมีราคาแพง  

 

หากย้ายเข้ามาในโลก Metaverse ก็อาจจะเป็นการสร้างกลไกอย่างเดียวกันโดยใช้ NFT (Non-Fungible Tokens- สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเฉพาะตัว สามารถถูกสร้างขึ้นเพื่อแทนสิ่งของต่างๆ เช่น งานศิลปะ หรือ แม้กระทั่ง“ที่ดิน” ใน Metaverse) หากของนั้นหายากและมีคนอยากได้เยอะ ราคาก็จะแพง 

 

โดยหากโลก Metaverse เป็นโลกที่คน (หรือ Avatar ของคน) ไปเดินเล่นใช้ชีวิตได้ ก็คงมีของ (ที่เป็น NFT) แนวเสื้อผ้าหรือ Gadget ต่างๆ ขายในโลกนี้ เพื่อให้แต่ละคนแต่งตัวไม่เหมือนกันได้ การใส่เสื้อที่แพงก็อาจเป็นการบ่งบอกสถานะ (ว่าฉันรวย) คล้ายๆ กับในโลกจริงที่คนชอบซื้อ ของ Brand name แพงๆ

 

เศรษฐศาสตร์ในโลกเสมือนจริง

 

 

นอกจากนี้ใน Metaverse ก็จะต้องมีระบบการเงิน ซึ่งคาดการณ์กันว่าคงเป็นการใช้ Cryptocurrencies ต่างๆ ซึ่งหากเป็น Metaverse ของ Facebook ก็อาจจะมีการใช้ Diem (Digital Currency ที่ Facebook กำลังพยายามสร้างอยู่ ซึ่งเป็น Project ที่เปลี่ยนชื่อมาจาก Libra ที่โด่งดัง)  

 

แต่ถ้าเป็น Metaverse อื่นก็อาจมีการใช้ Cryptocurrencies อื่นๆซึ่งอาจจะสามารถอนุญาตให้ใช้ได้ หลาย Currencies ใน Metaverse นั้นก็ได้  

 

หากมองกลับมาโลกจริงก็คงคล้ายๆ กับที่เรามีสกุลเงินของประเทศต่างๆ ที่ใช้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน(Medium of Exchange) และสกุลเงินก็เอามาแลกเป็นสกุลเงินอื่นโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดขึ้นได้

พอมีระบบการเงินก็คงต้องมีธนาคาร หรือผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งก็อาจจะเป็นธนาคารแบบไร้ตัวกลาง (DeFi หรือ Decentralized Finance) ซึ่งจริงๆ ปัจจุบัน DeFi Protocol ก็มีอยู่พอสมควรแล้ว (ไม่จำเป็นต้องไปอยู่ใน Metaverse) แต่หากใน Metaverse นั้นๆ ต้องการสร้างผู้ให้บริการทางการเงิน (แบบไร้ตัวกลาง) ก็สามารถสร้างขึ้นมาได้อีก ซึ่งก็อาจจะมีลักษณะ เฉพาะที่แตกต่างจาก DeFi Protocol ที่มีอยู่แล้วก็ได้

 

ดูๆ ไปแล้วโลก Metaverse น่าจะเต็มไปด้วยโอกาส การมีผู้คนเข้ามาใช้เวลาในโลกนี้มากๆ ก็จะทำให้ เกิดโอกาสทางธุรกิจขึ้นได้มาก มีการจับจ่ายใช้สอย และอาจมีการสร้าง Business Model ที่อาจสร้างมูลค่า ทางเศรษฐกิจขึ้นมาได้จริง (เช่น อาจให้มาซื้อของใน Metaverse แต่ก็มีของแบบ Physical จริงๆ มาส่งถึงบ้านได้ด้วย) 

 

แต่อย่างไรก็ดี Technology ใหม่ๆ ก็มีความเสี่ยง เพราะมีสิ่งที่เรายังไม่รู้อยู่อีกมาก หากอยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกนี้ ก็ควรที่จะศึกษาทำความใจ ทั้งตัวเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและความเสี่ยงต่างๆ ให้ดี