ออกใบขับขี่ปี 2565  ไม่หมู กรมขนส่ง เข้ม ใช้"Hazard Perception" สู่ระบบทดสอบ

01 พ.ค. 2565 | 05:41 น.

วิธีออกใบขับขี่ปี 2565  ไม่หมู กรมขนส่ง เข้มนำ”การคาดการณ์อุบัติเหตุ ”(Hazard Perception)เข้า สู่กระบวนการอบรม -ทดสอบ

 

ในแต่ละปีมีปริมาณผู้มาใช้บริการ ขอออกใบขับขี่รถยนต์กับกรมการขนส่งทางบกจำนวนมาก และแม้ว่าจะมีการอบรม ทดสอบ แต่การเกิดอุบัติเหตุค่อนข้างสูงอันเนื่องมากจาก ความประมาท ไม่สามารถวิเคราะห์อุบัติเหตุล่วงหน้าได้

 

 ในปีนี้ (ปี 2565) การขนส่งทางบก ได้มุ่งเน้นนำเนื้อหาเรื่อง “การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)” เข้าสู่กระบวนการอบรมและทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถเพื่อให้ได้ผู้ขับขี่บนท้องถนนที่มีคุณภาพที่แท้จริง ที่สำคัญ ทุกรายต้องผ่านการอบรมและการทดสอบที่เข้มข้น กว่า5 ชั่วโมง

 

นอกจากความเข้มงวดกรณีใบรับรองแพทย์ที่ต้องใช้รูปแบบมาตรฐานของการขออนุญาตออกใบขับรถ และสามารถระบุโรค ต้องห้ามจากการขับรถได้ และอนาคตอันใกล้จะขอความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณะสุข ระบุใบรับรองแพทย์ลงในระบบหมอพร้อม

ออกใบขับขี่ปี 2565  ไม่หมู กรมขนส่ง เข้ม ใช้"Hazard Perception"  สู่ระบบทดสอบ

ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก จับมือสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจภายใต้โครงการ   “DLT- ECONDRIVE ขับขี่ปลอดภัยอุ่นใจผู้ใช้ถนน” เสริมสร้างจิตสำนึกและปลูกฝังพฤติกรรมการขับขี่ด้วยความปลอดภัย เตรียมเพิ่มทักษะ “การคาดการณ์อุบัติเหตุ” ในการอบรมและทดสอบใบอนุญาตขับรถ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เมื่อวันที่30เมษายน ที่ผ่านมา

 

 

 นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งกล่าวว่า ระบบขอรับใบอนุญาตขับรถเป็นกระบวนการสำคัญที่กรมการขนส่งทางบกใช้คัดกรองและสร้างคุณภาพของผู้ขับรถออกสู่สังคม เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

 

เกิดความปลอดภัยและมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการคัดกรองนั้น ผู้ขับรถต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีสมรรถภาพร่างกายที่สมบูรณ์ มีใบรับรองแพทย์แสดงว่าไม่เป็นโรคที่เป็นลักษณะต้องห้าม

 

ต้องมีความรู้เพียงพอที่จะขับรถได้อย่างปลอดภัย โดยต้องเรียนรู้ภาคทฤษฎีเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการขับรถอย่างปลอดภัย มีจิตสำนึกและมารยาท มีความรู้เรื่องการจัดการเหตุฉุกเฉินและปฐมพยาบาล รวมทั้งต้องมีทักษะในการควบคุมยานพาหนะที่เกิดจากการเรียนและฝึกฝนปฏิบัติ ซึ่งทั้งหมดรวมอยู่ในกระบวนการขอรับใบอนุญาตขับรถของกรมการขนส่งทางบก

 

“ปี 2565 กรมการขนส่งทางบกจะการนำเนื้อหาเรื่อง “การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)” เข้าสู่กระบวนการอบรมและทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถ ซึ่งเป็นการให้ความรู้ในการตัดสินใจและการควบคุมรถที่ถูกต้อง เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินในสภาพการจราจรที่มีรูปแบบแตกต่างกันและฝึกทักษะให้สามารถคิดวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงจากสิ่งต่างๆ บนถนน”

ออกใบขับขี่ปี 2565  ไม่หมู กรมขนส่ง เข้ม ใช้"Hazard Perception"  สู่ระบบทดสอบ

โดย สามารถตัดสินใจหลีกเลี่ยงก่อนเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจัดทำขึ้นจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในสถานการณ์ต่างๆ ตามบริบทของประเทศไทย โดยจะทยอยนำเนื้อหาดังกล่าวประกอบในกระบวนการอบรมและทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถในปี 2565 นี้

 

โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ขับขี่ทั้งจักรยานยนต์และรถยนต์มีความสามารถในการรับรู้ เท่าทันต่อความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตขับรถไปใช้ขับรถจริงบนถนน ซึ่งการเพิ่มทักษะใหม่ในการอบรมและทดสอบใบอนุญาตขับรถนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกรมการขนส่งทางบกในการพัฒนามาตรฐานใบอนุญาตขับรถ และยกระดับความปลอดภัยทางถนนของประเทศ

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมการขนส่งทางบก ยังได้ปรับปรุงระบบขอรับใบอนุญาตขับรถและชำระภาษีรถประจำปี โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์และออนไลน์มาอำนวยความสะดวกประชาชน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวยกระดับบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัลตามนโยบายของรัฐบาล และป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

 

โดยปัจจุบันประชาชนที่ต้องการต่ออายุใบอนุญาตขับรถ สามารถอบรมต่ออายุใบอนุญาตขับรถทางออนไลน์ผ่านระบบ DLT e-Learning ทางเว็บไซต์ www.dlt-elearning.com ได้แล้ว โดยพบว่าหลังจากเปิดใช้งานระบบออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2563 ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้สอบใบอนุญาต มีผู้ใช้บริการอบรมผ่านระบบออนไลน์สะสมทั้งสิ้น 6,224,337 คน โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลถึง 5,027,858 คน 

 

นางสาวจิตวดี เพ็งมาก นายกสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเผยแพร่ความรู้ การปรับปรุง และเพิ่มเนื้อหาในการอบรมและทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถ โดยเฉพาะ “การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)”

 

ถือเป็นเนื้อหาใหม่ที่จำเป็นต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจและให้ความรู้กับสมาชิกผู้สื่อข่าวและสำนักข่าว เพื่อนำไปเผยแพร่เป็นข่าวสารสื่อสารทำความเข้าใจกับภาคสังคมต่อไป โดยที่ผ่านมาอุบัติเหตุสำคัญที่เกิดขึ้น และสร้างความสะเทือนใจต่อผู้คนในสังคมโดยรวม

 

เช่น กรณีรถบิ๊กไบค์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ “หมอกระต่าย” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสียชีวิต ซึ่งทำให้ประเทศไทยสูญเสียบุคลากรที่เป็นทรัพยากรที่มีค่า

 

สะท้อนให้เห็นว่าสภาพการจราจรในเมืองของไทย จำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้ในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะ “การคาดการณ์อุบัติเหตุ (Hazard Perception)” เพื่อให้ผู้ขับรถตระหนักและเพิ่มทักษะในการป้องกันอุบัติเหตุด้วยตนเอง