ผู้บริโภคซื้อสินค้าออนไลน์เจอสินค้าไม่ตรงปก ชำรุด เสียหาย ไม่เป็นไปตามโฆษณา สามารถร้องเรียนได้หลายช่องทาง ไปดูข้อแนะนำ วิเตรียมเอกสาร และช่องทางการแจ้งเรื่องได้ที่นี่
การซื้อสินค้าทางออนไลน์ในปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเลือกซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการที่หลากหลายแล้ว ยังลดปัญหาการออกนอกบ้านในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด แต่แม้จะสะดวกรวดเร็ว ก็อาจพบปัญหาที่ตามมาได้ โดยเฉพาะการได้สินค้าไม่ตรงกับคำโฆษณา หรือ “สินค้าไม่ตรงปก” นั่นเอง
ที่ผ่านมานักช็อปออนไลน์หลายคนคงมีประสบการณ์การซื้อสินค้าแล้วได้สินค้าไม่ตรงปกกันมาไม่น้อย ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเจอปัญหานี้กับตัวเองแล้ว ผู้บริโภคควรรีบดำเนินการส่งคืนสินค้ากับผู้ขายโดยทันที
ทั้งนี้หากพ้นกำหนดระยะเวลาที่ผู้ขายกำหนดแล้วผู้บริโภคอาจหมดสิทธิในการคืนสินค้าและคืนเงินด้วย
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้มีข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภคที่เจอปัญหานี้ โดยเมื่อเจอสินค้าไม่ตรงปก จะมีสิทธิตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 33 – 36 ดังนี้
- ใช้สิทธิขอคืนสินค้าภายใน 7 วัน
- รวบรวมหลักฐานการชำระเงิน เช่น คำสั่งซื้อสินค้า ข้อความสนทนา และสลิปการโอนเงินต่าง ๆ
- ผู้บริโภคส่งสินค้าคืนไปยังร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจ ภายใน 7 วัน
- ร้านค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจต้องคืนเงินให้ผู้บริโภคภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสินค้าคืนหากไม่คืนเงินตามกำหนดต้องเสียเบี้ยปรับให้กับผู้บริโภค
โดยก่อนซื้อสินค้าผู้บริโภคควรพิจารณาเลือกซื้อจากผู้ประกอบการที่มีการจดทะเบียน กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและได้รับการจดทะเบียนตลาดแบบตรงกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและควรอ่านรายละเอียดและเงื่อนไขให้ดี และปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในกำหนดเวลา
ทั้งนี้เมื่อได้เลือกซื้อสินค้ามาแล้วกลับได้สินค้าไม่ตรงปก สินค้าชำรุด หรือไม่ได้รับสินค้า สามารถดำเนินการได้ดังนี้
- ถ่ายวีดีโอ หรือถ่ายภาพขณะแกะกล่องสินค้าทุกครั้ง
- ถ่ายรูปสินค้า สิ่งที่เป็นตำหนิ ไม่ตรงกับคำโฆษณา
- ติดต่อร้านค้า
- ตกลงกับร้านค้า
กรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เตรียมเอกสาร ดังนี้
- ใบสั่งสินค้า
- ข้อมูลร้านค้า
- ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน
- ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
- หลักฐานการโอนเงิน
- นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความดำเนินคดีที่สถานีตำรวจท้องที่
อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเรื่องดังกล่าวยังสามารถแจ้งร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ เพื่อขอรับคำแนะนำและรับความช่วยเหลือผ่านสายด่วน ดังนี้
- สายด่วน 1166 สคบ.
- สายด่วน 1569 กรมการค้าภายใน
- สายด่วน 1212 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์
- สายด่วน 1556 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- โทร 02 248 3734-7 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค