จี้ศุลกากรแก้ สินค้าท่าเรือตกค้าง 1.5 พันล. เอกชนแบกอ่วม

20 เม.ย. 2565 | 13:12 น.

วงในท่าเรือแหลมฉบัง วอนศุลกากร แก้ปัญหาสินค้าท่าเรือตกค้าง 1.5 พันล้านบาท หลังเอกชนโวยชวดค่าเสียโอกาส เผยตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนหนักกระทบส่งออก

ที่ผ่านมาพระราชบัญญัติ (พรบ.) ศุลกากร พ.ศ. 2469 ถูกยกเลิก และบังคับใช้ พรบ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มีผลตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เป็น ต้นไปนั้น ซึ่งรวมเวลากว่า 5 ปี ปัญหาของตกค้างหรือสินค้าขาเข้าที่ผู้นำเข้าไม่มีการยื่นใบขนสินค้า, ไม่เสียอากรขาเข้าหรือ ไม่นำสินค้าออกจากอารักขาศุลกากรจนล่วงพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จนสินค้านั้นกลายเป็น “ของตกค้าง” ซึ่งจะถูกนำออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระค่าอากร ค่าเก็บรักษา ค่าขนย้าย หรือค่าภาระติดพันอย่างอื่นที่ค้างชำระ แก่กรมศุลกากร รวมทั้งค่าภาษีอากรตามกฎหมายอื่นก่อน เหลือเท่าใดให้ใช้ค่าภาระติดพันต่างๆ ที่ต้องชำระแก่ผู้เก็บรักษาและผู้ขนส่งตามลำดับ

 


ปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากจะเป็นกระบวนการขายทอดตลาดของกรมศุลกากรที่ล่าช้า และกรณีที่เงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดหลังหักค่าภาระติดพันต่างๆ ที่ต้องจ่ายคืนให้กรมศุลกากรแล้ว หากเหลือจะต้องให้เอกชนที่เป็นผู้เก็บรักษา จนถึงปัจจุบันผู้ประกอบการเอกชนยังไม่ได้รับเลย ส่วนเงินค่าเก็บรักษาสินค้าหรือของที่ต้องจ่ายให้เอกชนที่ต้องเก็บรักษาแทนกรมศุลกากร ก็ไม่มีวี่แววที่กรมศุลกากรจะชำระแก่เอกชนแต่อย่างใด 

 

 


ทั้งที่ตามกฎหมายแล้ว กรมศุลกากรจะต้องหาสถานที่เก็บรักษาของตกค้างที่เป็นของต้องกำกัด หรือของที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินรวมถึงของกลางเป็นของตนเอง เช่นเดียวกันกับหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย อย่างเช่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือแม้แต่กรมสรรพสามิต สังกัดกระทรวงการคลังเช่นเดียวกับกรมศุลกากร เป็นต้น หน่วยงานข้างต้นก็มีอำนาจตรวจยึด อายัด เก็บของกลาง เช่นเดียวกับกรมศุลกากร แต่ทำไมหน่วยงานรัฐนั้นๆ จึงทำได้ ไม่ได้สร้างภาระแก่เอกชน 
 

แต่เหตุใดหน่วยงานเหล่านี้สามารถใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานนั้น หาสถานที่เช่าเพื่อจัดเก็บของกลางได้ แต่ในกรณีเดียวกัน กรมศุลกากร กับให้เอกชนต้องมาเก็บรักษาของตกค้างของกลาง หรือของที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินแทนกรมศุลกากร แม้ว่ากรมศุลกากรอ้างว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจกรมศุลกากรต้องจ่ายให้เอกชน ก็ดูเหมือนจะเป็นการตีความที่เอาประโยชน์ได้แต่ฝ่ายเดียวของกรมศุลกากร โดยเฉพาะของบางอย่างที่ต้องเก็บรักษาในตู้สินคอนเทนเนอร์ หรือตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็นตู้เย็น (Reefer Container) ที่ต้องรักษาอุณหภูมิคงที่ ทำให้เอกชนต้องจ่ายมีค่าไฟฟ้าให้โดยไม่สามารถเรียกเก็บจากผู้ใดได้

 

 

 ปัญหาต่างๆ เหล่านี้กรมศุลกากรทราบดี แต่ไม่เคยคิดหาวิธีการหรือมาตรการใดๆ ที่จะบรรเทาเยียวยา หรือลดภาระค่าใช้จ่ายให้เอกชนแต่อย่างใด และดูไม่กระตือรือร้นที่จะหาสถานที่จัดเก็บทั้งที่กรมศุลกากรมีรับผิดชอบมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบกล่าวคือ ต้องนำของออกไปจัดเก็บ ณ คลังของกลาง และหรือคลังของตกค้างด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง ไม่ใช่มาทิ้งปัญหาและเป็นภาระให้เอกชน

 

 

 แหล่งข่าววงในท่าเรือแหลมฉบังและผู้ประกอบการสายเรือ ที่เป็นบริษัทสายเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ แจ้งว่า ปัจจุบันมูลค่าค่าเก็บรักษาสินค้าที่เป็นของตกค้างและของกลางที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ที่กรมศุลกากรฝากเก็บในท่าเทียบเรือของผู้ประกอบการมีมูลค่ามากกว่า 1,500 ล้านบาท มูลค่านี้ยังไม่รวมค่าเสียโอกาสที่บริษัทสายเรือควรนำตู้คอนเทนเนอร์ออกมาหมุนเวียน ซึ่งในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นที่ทราบกันดีว่าตู้คอนเทนเนอร์เป็นที่ขาดแคลนอย่างมากส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก จนผู้ส่ง ออกต้องร้องเรียนไปยังกระทรวงพาณิชย์ให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ต้องลงมาแก้ไขด้วยตนเอง เนื่องจากปัญหาตู้สินค้าที่เก็บของตกค้าง ของกลาง เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลให้พื้นที่ในท่าเทียบเรือมีพื้นที่กองเก็บตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ

จี้ศุลกากรแก้ สินค้าท่าเรือตกค้าง 1.5 พันล. เอกชนแบกอ่วม

เมื่อพิจารณาในทางกฎหมายแล้ว เอกชนต่างเห็นตรงกันว่า หากเอกชนต้องดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเก็บรักษาจากกรมศุลกากรหรือค่าขาดประโยชน์ที่ควรได้ ยังไม่เห็นช่องทางทางกฎหมายใดที่กรมศุลกากรจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระได้ เนื่องจากการออกคำสั่งของกรมศุลกากรเป็นว่าว่าจะออกมาในรูปของประกาศ หรือด้วยวาจาเป็นการกระทำทางปกครองอย่างหนึ่ง และยังอาจเป็นการทำละเมิดของหน่วยงานรัฐที่มีผลกระทบต่อประชาชนหรือเอกชนให้ต้องรับภาระเกินควร การที่กรมศุลกากรอ้างว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจให้ต้องชำระค่าฝากเก็บหรือค่าเก็บรักษา หรือแม้แต่การจะออกกฎ ระเบียบ หรือกฎหมายที่สามารถทำให้กรมศุลกากรไม่ต้องจ่ายและผลักภาระให้ประชาชนหรือเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบแทนได้ ก็ยังไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหรือระเบียบหรือกฎหมายนั้นอาจถูกเพิกถอนโดยศาล หรือศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นขัดรัฐธรรมนูญได้ 

 


กรมศุลกากรจึงควรนำปัญหานี้มาพิจารณาถ่องแท้และแก้ไขอย่างจริงจริง โดยเรียกหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ ก่อนที่ภาคเอกชนจะพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายต่อกรมศุลกากรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม