กทท.ไม่หวั่นยูนิไทยผิดสัญญา ลุยประมูล “อู่ต่อเรือแหลมฉบัง”312 ไร่

24 ธ.ค. 2564 | 09:40 น.

กทท.เล็งเปิดประมูลอู่ต่อเรือแหลมฉบัง 312 ไร่ ดึงเอกชนร่วมทุน PPP ปี 65 เร่งดำเนินคดีเอาผิดยูนิไทย หลังผิดสัญญาสร้างอู่ต่อเรือ กระทบค่าเสียหาย-รายได้หดแตะ 2 พันล้าน

หลังจากบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) หมดสัญญาเช่าพื้นที่ดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่17ธันวาคม 2563นั้น  รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า  ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแนวคิดที่จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวหลายรูปแบบ เช่น 1.เปิดประมูลจ้างบริษัทเอกชนดำเนินการก่อสร้างอู่ต่อเรือ  เนื่องจากในกรณีพื้นที่โครงการฯ มีอู่ต่อเรือภายในท่าเรือแหลมฉบังถือเป็นเรื่องดี หากเรือเกิดปัญหาสามารถใช้บริการอู่ต่อเรือได้ทันที แต่ก็ไม่จำเป็นว่าพื้นที่อู่ต่อเรือต้องอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบัง แต่กทท.ไม่ได้มีการปิดโอกาสบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) ซึ่งยูนิไทยสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ทีโออาร์และการพิจารณาจากคณะกรรมการกทท.เช่นกัน 2.พัฒนาพื้นที่ท่าเรือชายฝั่งภายในประเทศ (Domestic) ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถือมีความเหมาะสมสำหรับเรือชายฝั่งที่อยู่ภายในประเทศ โดยไม่ต้องจอดเรือในท่าเรือต่างประเทศ (International) ส่งผลให้ท่าเรือที่อยู่บริเวณนอกชายฝั่งสามารถขนส่งสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องขออนุญาตดำเนินการตามกฎระเบียบการนำเข้าและการส่งออก 

 

 


“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายังพบว่าพื้นที่อู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังนั้นมีเอกชนรายหนึ่งสนใจร่วมลงทุนในการดำเนินการถมทะเลเพื่อก่อสร้างโครงการฯอย่าง บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด ซึ่งขณะนี้เราคงต้องมีสอบถามกับทางบริษัทเอกชนอีกครั้งว่าสนใจลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวหรือไม่ หากบริษัทเอกชนมีความสนใจก็สามารถเข้ามาร่วมประมูลในพื้นที่นี้ได้เช่นกัน”

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า สำหรับแผนการเปิดประมูลโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง พื้นที่ 312 ไร่  ได้เริ่มดำเนินการบางส่วน เบื้องต้นกทท.ได้มีการดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าเสียโอกาสกับบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) ที่ผิดสัญญาในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกันการเปิดประมูลหาเอกชนผู้รับจ้างที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนและดำเนินการเปิดประมูลในรูปแบบ PPP อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี  ได้ภายในปี 2565 ทั้งนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องดำเนินการโดยเร็ว หากล่าช้าจะทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ 

 

 

 


“หากโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังจะดำเนินการพัฒนาในรูปแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์อาจไม่เหมาะสมเท่าไร เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวควรเป็นพื้นที่ที่ทำธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมายังมีแนวคิดดำเนินการพื้นที่ฯในรูปแบบธุรกิจที่เป็นศูนย์กลางครบวงจร  ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมจากการเป็นอู่ต่อเรือก็สามารถทำได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาโครงการฯที่กทท.อยู่ระหว่างดำเนินการด้วยว่าเป็นอย่างไร”

ส่วนกรณีที่บริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด เอนจิเนียริ่ง จำกัด (UNITHAI) หมดสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อดำเนินการโครงการอู่เรือบริเวณท่าเรือแหลมฉบังระหว่างการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เมื่อวันที่17ธันวาคม 2563 นั้น ขณะนี้การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างอัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนคู่สัญญา เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเอกชนทำผิดสัญญาโดยไม่ดำเนินการก่อสร้างอู่ต่อเรือ (อู่แห้ง) ให้ครบถ้วนตามสัญญา ทั้งนี้ทางบริษัทได้ร้องขอประนอมการดำเนินคดีดังกล่าว  แต่กทท.ยังยืนยันตามแนวทางเดิมที่ดำเนินการ 

 

 

 


“การฟ้องร้องกับบริษัทเอกชนตามสัญญาจะสิ้นสุดได้เมื่อไรนั้นยังตอบไม่ได้ ซึ่งตามสัญญาเช่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวกำหนดว่าบริษัทคู่สัญญาจะต้องดำเนินการสร้างอู่ต่อเรือ (อู่แห้ง) จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการก่อสร้าง ทำให้กลายเป็นประเด็นต่อเนื่อง หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญาที่กำหนดก็ไม่ผิดเกณฑ์เงื่อนไขแต่อย่างใด แต่ทางบริษัทเอกชนมีข้อโต้แย้งโดยระบุถึงสาเหตุที่ไม่ดำเนินการสร้างอู่ต่อเรื่อ (อู่แห้ง) เนื่องจากรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ไม่ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ทั้งนี้กทท.ยังยืนยันฟ้องขับไล่และเรียกร้องค่าเสียหายบริเวณพื้นที่ที่ต้องดำเนินการก่อสร้างอู่แห้ง ประมาณ 1,500 ล้านบาท  รวมทั้งกำไรและค่าเสียโอกาสที่กทท.จะได้รับตามสัญญา รวมอายุสัญญาสัมปทาน 30ปี ประมาณ 550 ล้านบาท”