กฟผ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็กที่ไม่มีสัญญาซื้อขาย

18 เม.ย. 2565 | 09:18 น.

กฟผ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็กที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า พร้อมเร่งนำเข้า Spot LNG ทดแทนน้ำมันช่วงราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูง

นายกิตติ เพ็ชรสันทัด รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานศูนย์ติดตามสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานของ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.ได้ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะสั้นจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) เฉพาะรายที่ไม่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 

 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าจากต่างประเทศลงได้ และยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาเศษชานอ้อย เนื่องจากเกษตรกรหันมาขายเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าแทน 

 

"กฟผ.ดำเนินการตามมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าระยะสั้นเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน พ.ศ. 2565" 

นอกจากนี้ กฟผ. จะเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) รูปแบบตลาดจร (Spot) จำนวน 2 ลำเรือ ในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม 2565 ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 16/2565 เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีปริมาณนำเข้าประมาณ 65,000 ตันต่อลำเรือ 

 

เพื่อใช้ทดแทนเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและสูงสุดในรอบ 7 ปี บวกกับการคาดการณ์ความสามารถในการจัดส่งน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 ของกรมธุรกิจพลังงาน 

 

กฟผ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากผู้ผลิตรายเล็ก

 

อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีปริมาณน้ำมันไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งการจัดหา LNG ครั้งนี้ จะช่วยเสริมความมั่นคงระบบพลังงานของประเทศ และทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลงประมาณ 500 ล้านบาท เมื่อเทียบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น

นายกิตติ กล่าวจต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมา กฟผ. เร่งดำเนินมาตรการเพื่อลดภาระค่าเชื้อเพลิง อาทิ ปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิง โดยปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า กฟผ. มาใช้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมัน ได้แก่ น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ทดแทนก๊าซฯ ในช่วงราคาก๊าซฯ ในตลาดโลกพุ่งสูง โดยระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 - มีนาคม 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 437.50 ล้านบาท 

 

และเลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ออกจากระบบไปก่อน 1 ปี โดยระหว่างเดือนมกราคม - มีนาคม 2565 สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงได้ 3,162.41 ล้านบาท รวมทั้งยังได้รับภาระค่าไฟฟ้าเรื่องต้นทุนเชื้อเพลิง ตั้งแต่งวดเดือนกันยายน 2564 จนถึงงวดเดือนเมษายน 2565 แทนประชาชนเป็นการชั่วคราว ประมาณ 60,000 ล้านบาท

 

เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ทำให้ กฟผ. ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุนแล้ว 25,000 ล้านบาท