อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

13 เม.ย. 2565 | 07:13 น.

    “อุดรธานี” ผงาดฮับโปรตีนทางเลือกใหม่ “แมลงรวย” ลงนาม MOU 13 ราย โรงเพาะเลี้ยง ป้อนจิ้งหรีดมาตรฐาน GAP ทำผลิตภัณฑ์หลากหลายจากแมลงส่งตีตลาดโลก สร้างความมั่นคงอาชีพรายได้เกษตรกร รับเทรนด์โลกแมลงอาหารแห่งอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ศูนย์ประชุมมณฑาทิพย์ ฮอลล์ ศูนย์การค้ายูดีทาวน์ อ.เมืองอุดรธานี จ. อุดรธานี มีการจัดงานมหกรรมอุดรธานี เมืองแห่งแมลงฮับโปรตีนอนาคตโลกขึ้น โดยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน

 

ตลอดจนสถาบันการศึกษาในพื้นที่ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด หอ การค้า จังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และบริษัท แมลงรวย จำกัด เพื่อเปิดตัวธุรกิจการเลี้ยงแมลงเพื่อการค้าและส่งออก

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการลงนามบันทึกความร่วมมือ(MOU) ระหว่างบริษัท แมลงรวยจำกัด กับเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงแมลง จำนวน 13 แห่ง ในด้านการผลิต และซื้อ-ขายผลผลิตจากผู้เลี้ยงสู่โรงงาน

 

รวมทั้งการจัดเวทีเสวนา การให้ความรู้ด้านธุรกิจแมลงกินได้ ทั้งวิธีการเลี้ยง การเข้าถึงการรับอนุญาตและการสนับสนุน ของทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเลี้ยงแมลงตามมาตรฐานกำหนด เพื่อให้ธุรกิจแมลงกินได้สร้างความ มั่นคงแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

 

นายสะไกร อินทร์นาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมลงรวย จำกัด

นายสะไกร อินทร์นาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แมลงรวย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีโรงงานแปรรูปแมลง 2 แห่ง มีกำลังผลิตเดือนละประมาณ 2 แสนชิ้น/ซอง ตลาดใหญ่คือประเทศจีน เอเชีย ประมาณ 50% ตลาดยุโรป 25% ตลาดในประเทศ 25% มีผลิตภัณฑ์แมลงอยู่ 15 ชนิด

 

มีความต้องการวัตถุดิบคือ แมลงชนิดต่างๆ เดือนละประมาณ 50 ตัน แบ่งเป็นจิ้งหรีดพันธุ์ทองแดงลาย หรือจิ้งหรีดขาว (แมงสะดิ้ง) ประมาณ 40 ตัน ดักแด้ประมาณ 5 ตัน ซึ่งซึ่งดักแด้ยังต้องนำเข้าจากจีน เนื่องจากไทยยังไม่ได้กำหนดมาตรฐาน และจิ้งหรีดพันธุ์ทอดอีกประมาณ 5 ตัน

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

จึงต้องการส่งเสริมเกษตรกรอุดรธานี ให้หันมาเพาะเลี้ยงแมลงภายใต้มาตรฐาน GAP เพื่อสร้างจังหวัดอุดรธานี ให้เป็นศูนย์กลางการซื้อขายแมลงกินได้ของประเทศเบื้องต้นมีฟาร์มภายใต้โครงการสนับสนุนเพื่อเลี้ยงภายใต้มาตรฐาน GAP จำนวน 15 แห่ง

 

“แมลงกินได้กำลังเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ มีกลไกธุรกิจสัตว์โปรตีนระดับโลก ที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก จึงเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ความมั่นคงกับอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะเมืองไทยที่ภูมิอากาศเหมาะสม เลี้ยงได้ปีละ 8 รอบ แต่ต้องได้มาตรฐาน GAP เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมให้แมลงเป็นอาหารโลกอย่างแท้จริง”

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

ด้านนางสมพร เคยสนิท รองประธานวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านโคกสะอาด ต.โคกสะอาด อ.เมืองอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มฯของตนมีสมาชิก 15 ราย ตนเคยเลี้ยงจิ้งหรีดมาก่อน แต่เป็นการเลี้ยงแบบบ้านๆไม่ได้มีการควบคุม หรือทำเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP เนื่องจากเมื่อก่อนแหล่งรับซื้อก็ไม่แน่นอนแต่ก็ทำรายได้ให้พอสมควร

 

การที่ได้ลงนาม MOU บันทึกการจะชื้อจะขาย ระหว่างโรงงานและฟาร์มเลี้ยงครั้งนี้ จะสร้างความมั่นคงและมั่นใจว่า ฟาร์มเลี้ยงจะมีแหล่งรับซื้อจิ้งหรีดอย่างแน่นอน ผู้เลี้ยงเองก็จะต้องลงทุนสร้างโรงเลี้ยงระบบปิด ปรับปรุงวิธีเลี้ยงและแนวทางปฏิบัติตามหลักวิชาการ ให้อยู่ในข้อกำหนดมาตรฐาน เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและสร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงเองด้วย ก็จะสร้างความมั่นคงแก่เกษตรผู้เลี้ยงจิ้งหรีดดีกว่าที่ผ่านๆ มาแน่นอน

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

นายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO ) สนับสนุนให้แมลง เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกของโลก ประกอบกับไทยเป็นประเทศร้อนชื้น แมลงกินได้เจริญเติบโตได้ดี มีคุณภาพสูง

 

อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายส่งเสริม ให้เกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงแมลงกินได้ เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างอาชีพที่สอด คล้องกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ให้อาชีพเกษตรมีความยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้ไทยเป็นแหล่งผลิตโปรตีนสำคัญของโลกในอนาคต

อุดรธานีปักหมุดเมืองแมลง"ฮับโปรตีน"โลกอาหารแห่งอนาคต

ด้านนายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานีกล่าวถึงความสำคัญของอาชีพการเพาะเลี้ยง แมลงโดยเฉพาะจิ้งหรีด ว่า ปัจจุบันจิ้งหรีดและแมลงรับประทานได้ กลายเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกไปแล้ว ทางรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญต่อการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดด้วยการกำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นเป็นศูนย์กลางการผลิตแมลง หรือฮับแมลง โลก รับกับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) ในอนาคตของโลก

 

การส่งเสริมยกระดับการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดและแมลงกินได้ ภายใต้มาตรฐาน GAP ตลอดจนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารหลากหลายรูปแบบ ตามความต้องการของตลาด จะช่วยสร้างชื่อเสียง ความเชื่อถือ และสนับสนุนไทยให้เป็นประเทศผู้ส่งออกแมลงรายใหญ่แห่งหนึ่งของเอเชียและโลกและการผลักดันให้จังหวัดอุดรธานีเป็นเมืองแห่งแมลง ฮับโปรตีนของโลกในอนาคต 

 

ยงยุทธ ขาวโกมล/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,774 วันที่ 14-16 เมษายน พ.ศ. 2565