กัลฟ์ อัด 7.5 หมื่นล้าน ดันพลังงานหมุนเวียน สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

13 เม.ย. 2565 | 04:37 น.

กัลฟ์ กลางงบ 5 ปี 7.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 30 % ของกำลังผลิต ในปี 2573 ตอบโจทย์ไทยมุ่งสู่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ยันไม่มีนโยบายเพิ่มผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ชี้ทิศทาง เยอรมนี เวียดนาม โอมาน และไทย ตลาดยังเปิดกว้าง สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศ มีนโยบายชัดเจนในการดำเนินธุรกิจ ที่จะไม่ลงทุนในธุรกิจถ่านหินหรือโครงการพลังงานที่ผลิตจากถ่านหิน (No Coal Policy) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถมุ่งสู่พลังงานสะอาดและลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 สอดรับกับทิศทางของสังคมโลก โดย GULF จะหันมามุ่งเน้นการลดสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ด้วยการเพิ่มการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งในและต่างประเทศแทน

 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี (2565-2569) ไว้ประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 75% หรือ 7.5 หมื่นล้านบาท โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและก๊าซธรรมชาติ 10% หรือ 1 หมื่นล้านบาท ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 10% หรือ 1 หมื่นล้านบาท และธุรกิจดิจิทัล 5% หรือ 5 พันล้านบาท

 

สำหรับงบลงทุนส่วนใหญ่ที่นำไปใช้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะยาวของบริษัทที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนให้ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2573 ที่มีเป้าหมายจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหนึ่งหน่วยผลิต (carbon intensity) ให้ได้ 25% เทียบกับปีฐาน 2562

 

ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความตั้งใจที่จะสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานในภูมิภาคอาเซียนและความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการดำเนินการเพื่ออมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางคาร์บอน (carbon neutral) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero GHG emissions) ตามนโยบายของรัฐบาล

 

 

กัลฟ์ อัด 7.5 หมื่นล้าน ดันพลังงานหมุนเวียน สู่เป้าหมายคาร์บอนเป็นศูนย์

 

ในปี 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ประมาณ 630 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 8% จากกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 7,875 เมกะวัตต์ โดยในปี 2570 จากเป้าหมายเดิมบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 14,498 เมกะวัตต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ราว 870 เมกะวัตต์

 

 “จากการจัดโครงสร้างการลงทุนในกลุ่มบริษัทใหม่ เปลี่ยนชื่อบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มาเป็น บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด โดยนำบริษัทย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดของบริษัทฯ มาอยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี เพื่อรองการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวและเสริมแกร่งการดำเนินงานด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนให้กับบริษัทมากขึ้น”

 

นางสาวยุพาพิน กล่าวอีกว่า สำหรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว จะเน้นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนในต่างประเทศ ที่มีนโยบายชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น เยอรมนี ที่ปัจจุบันบริษัท เข้าไปถือหุ้น 50% ในโครงการ Borkum Riffgrund II ในประเทศเยอรมนี มีกำลังการผลิตรวม 464.8 เมกะวัตต์ ซึ่งมองว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนยังขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากรัฐบาลสนับสนุนพลังงานสะอาด จากปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแล้ว 46 % ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด

 

ขณะที่เวียดนามบริษัทมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม (GTN1 และ GTN2) กำลังผลิต รวม 118.8 เมกะวัตต์ และฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง (Mekong Wind) กำลังการผลิต 128 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินงานเชิงพาณิยช์(ซีโอดี) ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

 

โดยรัฐบาลเวียดนามมีนโยบายในการส่งเสริมพลังานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ที่คาดว่าสัดส่วนพลังงานทดแทนนี้จะเพิ่มขึ้นราว 38 % ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ในปี 2573 หรืออยู่ที่ 49,000 เมกะวัตต์ จึงเป็นโอกาสให้ขยายการลงทุนได้อีกมาก

 

หรือแม้แต่โอมาน รัฐบาลได้ออกนโยบายสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศ จะเป็นโอกาสให้บริษัทขยายการลงทุนได้อีก จากปัจจุบันได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ กำลังผลิต 326 เมกะวัตต์

 

รวมถึงการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำในสปป.ลาว เพิ่มมากขึ้น จากเป้าหมายที่รัฐบาลสปป.ลาวจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำให้ได้ถึง 29,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีการพัฒนาอยู่ 2 โครงการได้แก่ โครงการปากลาย (Pak Lay) ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 770 เมกะวัตต์ โดยมีบริษัท GULF เป็นผู้พัฒนาโครงการ และดำเนินกิจการ ได้อัตราค่าไฟฟ้า 2.9426 เมกะวัตต์ กำหนด COD เดือนมกราคม 2575 และอยู่ระหว่าง

 

ส่วนประเทศไทยนั้นได้ตั้งบริษัท กัลฟ์1 จำกัด ดำเนินธุุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (solar rooftop) และการให้บริการบำรุงรักษาระบบพลังงานแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายในปีนี้ จะติดตั้งให้ครบ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งมองว่าตลาดในไทย ยังเติบโตได้อีกจากนโยบายส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดยสิ้นปี 2564 บริษัทได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 2.3 เมกะวัตต์

 

 รวมถึงการรุกผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลมากขึ้น จากปัจจุบันดำเนินงานแล้ว 1 โครงการ กำลังผลิต 25 เมกะวัตต์ อีกทั้ง จะรุกสู่โรงไฟฟ้าขยะชุมชนมากขึ้น ซึ่งล่าสุดได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะ จังหวัดเชียงใหม่ กำลังผลิตกว่า 9.5 เมกะวัตต์ ที่จะใช้เวลาการพัฒนาอีก 3 ปี