“เฉลิมชัย”ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำ ร่วมโชว์ “เกี่ยวข้าว"

07 เม.ย. 2565 | 06:47 น.

“เฉลิมชัย” รัฐมนตรีเกษตรฯ นำทีมผู้บริหารลง พื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก จ.ลพบุรี ติดตามสถานการณ์น้ำ ให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงภายในเดือน ก.ย. นี้ พร้อมร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเกษตรกร อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โชว์ “เกี่ยวข้าว”

 

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน

เช้าวันนี้ (7 เม.ย. 65) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและร่วมกิจกรรมเกี่ยวข้าวกับกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวอย่างพร้อมเพรียงกัน 

 

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ณ ปัจจุบัน (7 เม.ย. 65) อ่างเก็บน้ำ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 10,968 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 4,272 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำจำนวนนี้สามารถใช้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ จนสิ้นสุดฤดูแล้งปลายเดือนเมษายน 2565 นี้ รวมถึงใช้เป็นน้ำสำรองในช่วงต้นฤดูฝน เดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 กรณีฝนทิ้งช่วงได้เพียงพอตามแผนอีกด้วย

 

บรรยากาศเกี่ยวข้าว

ในส่วนของสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวนาปรังของลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการทำนาปรังไปแล้วรวม 4.41 ล้านไร่  คิดเป็นร้อยละ 125 ของแผนฯ  เฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดลพบุรี 3 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งท่าวุ้ง อ.ท่าวุ้ง , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท – ป่าสัก อ.บ้านหมี่ และทุ่งบางกุ่ม (บางส่วน) อ.เมืองลพบุรี ณ วันที่ 4 เม.ย. 65 มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้วรวม 110,904 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 93 ของแผนฯ  เก็บเกี่ยวแล้ว 32,227 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 29  คาดว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดภายในต้นเดือน เม.ย. 65 นี้

 

ก่อนที่กรมชลประทานจะเริ่มส่งน้ำให้เกษตรกรได้ทำนาปีอีกครั้ง ตามแผนการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีของพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 10 ทุ่งในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง  โดยเริ่มดำเนินการส่งน้ำตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. 65 เป็นต้นไป เพื่อให้เกษตรกรเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึงภายในเดือน ก.ย. 65 ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผลผลิตทางการเกษตรที่จะเสียหายจากน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่

บรรยากาศ

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท – ป่าสักนั้น ด้วยสภาพของพื้นที่ เป็นพื้นที่มีความลาดเทเข้าหาคลองชัยนาท – ป่าสัก ทำให้ในช่วงฤดูน้ำหลาก จะมีมวลน้ำจากพื้นที่ อ.โคกเจริญ อ.สระโบสถ์ อ.หนองม่วง และ อ.โคกสำโรง ไหลลงมาปะทะแนวคันคลองชัยนาท – ป่าสัก ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำกว่าบริเวณอื่น จึงเกิดสภาวะน้ำท่วมขัง และปริมาณน้ำดังกล่าวจะระบายลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสักได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว

 

"คลองชัยนาท – ป่าสัก" จะรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาสมทบเต็มศักยภาพเกือบตลอดเวลา จึงส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรในเขต อ.บ้านหมี่ อยู่เป็นประจำทุกปี ดังนั้นกรมชลประทาน ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยการก่อสร้างสถานีสูบน้ำริมคลองฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท – ป่าสัก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ถึง 2556 จำนวน 16 สถานีเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำท่วมขังลงสู่คลองชัยนาท – ป่าสัก ซึ่งสามารถระบายน้ำได้วันละ 7.43ล้าน ลบ.ม. 

นอกจากนั้นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น "กรมชลประทาน" ได้ดำเนินการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งฝั่งซ้ายของคลองชัยนาท – ป่าสัก จำนวน 72,680 ไร่ โดยกำหนดการส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปี ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ของทุกปี เพื่อให้ทันการเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน จากนั้นจะใช้ทุ่งดังกล่าวเป็นพื้นที่แก้มลิง รองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนได้ประมาณ 116 ล้าน ลบ.ม.

 

“เฉลิมชัย”ลงพื้นที่ จ.ลพบุรี  ติดตามสถานการณ์น้ำ ร่วมโชว์  “เกี่ยวข้าว"

ควบคู่ไปกับการจัดจราจรทางน้ำในคลองชัยนาท – ป่าสัก ให้สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่น้ำป่าไหลหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ตอนบน อาทิ ก่อสร้างแก้มลิง และอ่างเก็บน้ำ เพื่อตัดยอดน้ำหลากในช่วงฤดูฝน ทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย

 

ส่วนแผนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในระยะยาวนั้น จะเร่งรัดการดำเนินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำหลายแห่งในพื้นที่ตอนบน จังหวัดลพบุรี เช่น อ่างเก็บน้ำหนองโสน (อ.โคกสำโรง), อ่างเก็บน้ำคุ้งใหญ่และอ่างเก็บน้ำซับสอง (อ. สระโบสถ์), เเละอ่างเก็บน้ำวังตะโก (อ.โคกเจริญ) รวมถึงโครงการขุดลอกแก้มลิงบึงทะเลน้อย และแก้มลิงพุแว้ (อ.โคกเจริญ) เพื่อใช้เป็นเครื่องชะลอน้ำในฤดูน้ำหลาก และเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อใช้ในช่วงฤดูแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น