ลดอัตราจ่ายเงินสมทบนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 ม.39 เดือนไหนเช็คที่นี่

05 เม.ย. 2565 | 23:06 น.

ลดอัตราจ่ายเงินสมทบช่วยเหลือนายจ้าง ผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 หลัง ครม.ไฟเขียว เริ่มเดือนไหน ลดกี่บาท เช็คที่นี่

จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เมื่อวานนี้ (5 เม.ย.65) เห็นชอบ ผ่านร่างกฎกระทรวง ฯ ลดอัตราเงินสมทบที่นายจ้างและผู้ประกันตน มาตรา 33 และ 39 จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต

 

ล่าสุด นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน และผู้ใช้แรงงาน ได้ออก 10 มาตรการ ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมถึงผู้ใช้แรงงาน หนึ่งในนั้นคือการลดเงินสมทบประกันสังคม เพื่อช่วยเหลือนายจ้างผู้ประกอบการ และพี่น้องผู้ประกันตน โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้น้อย ซึ่งได้รับความเดือดร้อน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 และสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศรัสเซีย และยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และบริการของทั้งในและต่างประเทศ

 

 

นายสุชาติ ชมกลิ่น

 

 

ลดเงินสมทบนายจ้าง-ผู้ประกันตนมาตรา 33 และ ม.39 ดังนี้

  • ผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้าง
  • ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ปรับลดอัตราเงินสมทบ จากเดิมร้อยละ 9 (เดือนละ 432 บาท) เหลือร้อยละ 1.9 คิดเป็นเงินเดือนละ 91 บาท
  • โดยเริ่มตั้งแต่งวดเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 สำหรับฝ่ายรัฐบาลยังส่งเงินสมทบในอัตราเดิมคือร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน

   ลดอัตราเงินสมทบนายจ้าง ลูกจ้าง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยต่อไปว่า มาตรการลดเงินสมทบเพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกันตนในยามเดือดร้อนในสถานการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินสมทบที่ลดลง 1,000 – 1,800 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 18,085 ล้านบาท ไปใช้เพิ่มกระแสเงินสดให้ผู้ประกันตนมีสภาพคล่องมากขึ้น หากลูกจ้างผู้ประกันตนติดเชื้อต้องรักษาตัวไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ทำให้ขาดรายได้ อีกทั้งมาตรการดังกล่าว จะเป็นการลดปัญหาทางการเงินของผู้ประกันตนทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังเป็นการช่วยแบ่งเบาลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้นและเพิ่มสภาพคล่องให้กับนายจ้าง เป็นจำนวนเงิน 15,938 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพในการรักษาการจ้างงาน

 

ส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ เงินสมทบที่ลดลงมากกว่า 34,023 ล้านบาท จะกลายเป็นเม็ดเงินที่นำมาใช้จ่ายช่วยหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ของประเทศ สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมจะได้เร่งดำเนินการเพื่อให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ทันภายในกำหนด จึงขอให้นายจ้าง และผู้ประกันตน มั่นใจการดำเนินงานของกระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคมภายใต้ นโยบายของนายประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนให้ตรงจุดและทันท่วงที เนื่องจากปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ปากท้องของพี่น้อง ผู้ใช้แรงงานเป็นเรื่องสำคัญ และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังอย่างแน่นอน.