อัพเดท “ไฮสปีดไทย-จีน” คืบหน้าถึงไหนแล้ว

03 เม.ย. 2565 | 07:15 น.

รฟท.กางแผนคืบหน้าสร้างไฮสปีดไทย-จีน เฟส 1 วงเงิน 1.79 แสนล้าน เผย 3 สัญญาติดปัญหายังไม่เคลียร์ไม่จบ ขณะที่สัญญาที่ 4-5 ติดหล่มสถานีอยุธยา บมจ.อิตาเลียน ไม่ยืนราคา ดึงบ.บุญชัยพาณิชย์ เจรจา รับช่วงต่อ

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แจ้งว่า ปัจจุบันโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ตามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะ(เฟส)ที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กิโลเมตร(กม.) 14 สัญญา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท ภาพรวมการก่อสร้างมีความคืบหน้า 4.23% ล่าช้ากว่าแผน 3.11% แล้วเสร็จ 1 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. กำลังก่อสร้าง 10 สัญญา ส่วนที่เหลืออีก 3 สัญญา รอลงนามสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ระยะทาง 30.2 กม., สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.

 

 

สำหรับสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครอง ส่วนสัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง อยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่าง รฟท. และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาการทับซ้อนของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟไฮสปีดไทย-จีน โดยเอกชนยอมรับในการก่อสร้างโครงสร้างร่วมช่วงเส้นทางทับซ้อนฯ ค่าก่อสร้างเพิ่ม 9,207 ล้านบาท

 

 

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ขณะที่สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ติดปัญหาเรื่องสถานีอยุธยา ต้องจัดทำรายงานผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) ของแหล่งมรดกโลกนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามสัญญาที่ 4-5 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,913 ล้านบาท ราคากลางอยู่ที่ 11,801 ล้านบาท แต่เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ยืนราคา ทาง รฟท. จึงต้องเชิญผู้เสนอราคาต่ำสุดลำดับถัดไป ซึ่งเป็นรายที่ 2 มาเจรจาราคา ปรากฏว่ารายที่ 2 ก็ไม่เจรจา จึงต้องเชิญผู้เสนอราคาต่ำสุดรายที่ 3 ได้แก่ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด มาเจรจาราคา เพื่อเป็นผู้ดำเนินการในสัญญาที่ 4-5 ต่อไป

รายงานข่าว กล่าวต่อว่า ตามระเบียบ รฟท.ระบุว่าหากผู้เสนอราคาต่ำสุดไม่ยืนราคา สามารถเชิญผู้เสนอราคาต่ำสุดลำดับถัดไปมาเจรจาได้เลย ไม่ต้องประกวดราคาใหม่ สำหรับบริษัท บุญชัยฯ เป็นบริษัทในเครือของบริษัท ซีวิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด(มหาชน) ซึ่งจากการเจรจาเบื้องต้น ได้ข้อสรุปราคาอยู่ที่ประมาณ 1.03 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง แต่สูงกว่าราคาที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เสนอประมาณ 400 ล้านบาท 

 

 

 

“หลังจากนี้จะต้องนำผลการเจรจาดังกล่าวเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟท. พิจารณา เพื่ออนุมัติสั่งจ้างต่อไป หากบอร์ด รฟท. เห็นชอบ คาดว่า รฟท. จะสามารถลงนามสัญญาที่ 4.5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว กับบริษัท บุญชัยพาณิชย์ฯ ได้ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.65”   
 

นายปิยะดิษฐ์  อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริงจำกัด (มหาชน) หรือ CIVIL กล่าวว่า เครือซีวิลเป็นผู้เสนอราคางานโยธารถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย - จีน สัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กิโลเมตร (กม.) ต่ำสุดเป็นรายที่ 3 โดยมีราคาประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเอกชนผู้เสนอราค่ำสุดราว 400 ล้านบาท แต่ยืนยันว่าเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง และบริษัทฯ มีความพร้อมในการดำเนินโครงการดังกล่าว หากได้ลงนามสัญญางานก่อสร้างโครงการนี้ จะส่งผลให้ภาพรวมบริษัทฯ มีงานใหม่ในมือเพิ่มอีกราว 1 หมื่นล้านบาท และส่งผลให้มีมูลค่างานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ 16,000 ล้านบาท ทยอยรับรู้ช่วงปี 2565 – 2567 อีกทั้งในปีนี้บริษัทฯ ยังมีเป้าหมายร่วมประมูลงานโครงสร้างพื้นฐานทั้งรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 งานก่อสร้างทางหลวง และมอเตอร์เวย์ รวมไปถึงการก่อสร้างท่าอากาศยานด้วย

 

 


“งานโยธาก่อสร้างไฮสปีดสัญญาที่ 4-5 ถือเป็นโอกาสอย่างมาก โดยบริษัทมีความพร้อมในการเริ่มงานก่อสร้างอยู่แล้ว หากว่าการรถไฟฯ สามารถส่งมอบพื้นที่และอนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อสร้าง เพราะที่ผ่านมาบริษัทมีประสบการณ์งานโยธารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน เช่น สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก”