ครม.ทุ่ม 6.2 พันล้าน ทำระบบ "คลาวด์กลางภาครัฐ” เสริมความมั่นคงไซเบอร์

29 มี.ค. 2565 | 08:30 น.

“ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกรัฐบาล” เผยมติครม.ล่าสุด 29 มี.ค. 65 เห็นชอบให้ "บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ" หรือ NT เป็นผู้ดำเนิน “Cloud : คลาวด์กลางภาครัฐ” งบผูกพัน 3 ปี 6,216 ล้านบาท

วันที่ 29 มีนาคม 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า มติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) จัดให้มี คลาวด์ (Cloud) กลางภาครัฐ

 

และให้ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เป็นผู้ดำเนินคลาวด์กลางภาครัฐ 

 

อันเนื่องมาจากการควบรวมกิจการและได้รับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535

 

พร้อมเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2566-2568 โครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ รวมวงเงิน 6,216 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้รายละเอียดโครงการบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ วงเงิน 6,216 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ประกอบด้วย ค่าเช่าใช้ระบบเพื่อให้บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ แบ่งเป็น

  • ค่าเช่าใช้บริการระบบคลาวด์ จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 VM รวม 3,852 ล้านบาท
  • ค่าเช่าพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเพิ่ม จำนวน 3,000 TB จำนวน 5775 ล้านบาท
  • ค่าบริการการบริหารจัดการ Log และ Managed Security Service จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 VM  รวม 1,350 ล้านบาท
  • ค่าบริการสิทธิของระบบบริหารจัดการฐานข้อมูล (Database License) รวม 229 ล้านบาท
  • ค่าบริการ Cloud Marketplaceรวม 150 ล้านบาท
  • ค่าบริการระบบศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายและCall Center 24 ชั่วโมง 7 วัน รวม 57 ล้านบาท

 

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ประเมินว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศในส่วนของค่าเช่าคลาวด์ได้  4,116 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 76.22
  • ส่งเสริมระบบสารสนเทศของประเทศให้มั่นคงปลอดภัย 

 

เนื่องจากข้อมูลและระบบงานของหน่วยงานภาครัฐอยู่ในระบบคลาวด์กลางภาครัฐที่มีมาตรฐานสากลด้านความมั่นคงปลอดภัยและตั้งอยู่ภายในประเทศ

 

นอกจากนี้โครงการดังกล่าวยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่รัฐบาลดิจิทัล รวมถึงการใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) เพื่อการบริหารจัดการและการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ