ราคาน้ำมันแพง ยกเลิกนำเข้าได้ไหม จะใช้อะไรทดแทน ต้นทุนเท่าไหร่ อ่านเลย

26 มี.ค. 2565 | 05:12 น.

ราคาน้ำมันแพง ยกเลิกนำเข้าได้ไหม จะใช้อะไรทดแทน ต้นทุนเท่าไหร่ อ่านเลย อ.นิด้าคำนวณความเป็นไปได้ อัตราการสิ้นเปลือง

ราคาน้ำมันวันนี้ (26 มี.ค.) เพิ่งมีการประกาศปรับขึ้นราคาเบนซินอีก 60 สตางค์ต่อลิตร ทำให้น้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ลิตรละ 47.96 บาท แก๊สโซฮอล์ 95 ลิตรละ 40.55 บาท แก๊สโซฮอล์ 91 ลิตรละ 40.28 บาท ส่วนกลุ่มดีเซลใกล้แตะ 30 บาทต่อลิตร

 

นายสันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Sunt Srianthumrong) โดยมีข้อความว่า

 

ยุคน้ำมันแพง: ถ้าประเทศไทยจะเลิกนำเข้าน้ำมันเพื่อมาเติมรถยนต์ สิ้นสุดการพึ่งพา รัสเซีย อเมริกา ตะวันออกกลาง จะเป็นไปได้หรือไม่?  

 

หนึ่งในคำถาม Classic คำถามหนึ่งคือ ถ้าคนไทยหันมาใช้ EV ทุกคน แล้วกางแผง Solar เพื่อเอามาชาร์จ EV ทั้งหมด 

 

จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ใช้พื้นที่เท่าไหร่ พื้นที่ในประเทศมีมากพอหรือไม่ แดดพอจริงๆหรือ และเงินลงทุนจะมหาศาลขนาดไหน? 

 

เรามาลองดูความเป็นไปได้ และอาจจะเป็นทางรอดและป้องกัน WW3 (สงครามโลกครั้งที่ 3) ด้วย 

 

ปีที่แล้ว 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบถึง 7.28 แสนล้านบาท 

 

มาคำนวณแบบบ้านๆเพื่อหาคำตอบ"เบื้องต้น"กันว่า "แอก" ที่แบกกันหลังแอ่นนี้ คนไทยที่มีแค่ที่ดินกับแดดจัดๆเนี่ย จะมีหนทางรวมพลังช่วยกันปลดมันลงได้หรือไม่

ข้อมูลความต้องการน้ำมัน:

 

  • น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้ 62.63 ล้านลิตร/วัน
  • น้ำมันกลุ่มเบนซิน การใช้ 30.54 ล้านลิตร/วัน
  • ประเมินความสิ้นเปลืองในการวิ่งของรถคร่าวๆ 16 km/ลิตร

 

ดังนั้นระยะทางวิ่งที่ต้องการ

 

  • ดีเซล 1,002,080,000 km/วัน
  • เบนซิน 488,640,000 km/วัน
  • รวม 1,490,720,000 km/วัน

 

คำนวณ EV:

 

  • ความสิ้นเปลือง EV 5 km/หน่วยไฟฟ้า
  • ต้องการไฟฟ้าต่อวันสำหรับชาร์จรถทั้งหมด 298,144,000 หน่วย/วัน

คำนวณ Solar:

 

  • Solar ติดตั้ง 1,000 kW ผลิตไฟฟ้าได้ 4,000 หน่วย/วัน
  • ติดตั้ง Solar Farm 1,000 kW ใช้พื้นที่ประมาณ 7 ไร่
  • ดังนั้นพื้นที่ 1 ไร่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 571 หน่วยต่อวัน 
  • ถ้าเราต้องการไฟฟ้าวันละ  298,144,000 หน่วย เราจึงต้องการพื้นที่ 521,752 ไร่

 

เงินลงทุน:

 

  • กำลังติดตั้ง Solar ที่ต้องการประมาณ 74,536 MW
  • ราคา Solar 22 ล้านบาท/MW
  • ต้องใช้เงินลงทุนรวมทั้งประเทศเฉพาะระบบ Solar 1,639,792 ล้านบาท

 

หมายเหตุ: ในชีวิตจริงจะต้องมีต้นทุนทางการเงิน และการลงทุนระบบกริดไฟฟ้าเพื่อรองรับอีกหลายแสนล้านนะครับ การคำนวณนี้เป็นแค่เบื้องต้นเพื่อดู Magnitude ของการลงทุนและความเป็นไปได้

 

ความหมายของตัวเลข และความเป็นไปได้:

 

1. ความคุ้มค่าและความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์
ลงทุน Solar 1,639,792 ล้านบาท ใช้ได้ 25 ปี ลดการนำเข้าน้ำมันปีละถึง 7 แสนล้าน ยังไงก็น่าจะคุ้มครับ

 

2. มีที่ดินเพียงพอหรือไม่
ขนาดพื้นที่ 5 แสนไร่มากน้อยแค่ไหน? ประเทศไทยมีพื้นที่มากถึง 321 ล้านไร่ 5 แสนไร่คิดเป็นแค่ 0.16% และในความเป็นจริง เพียงแค่พื้นที่หลังคาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็มีมากพอแล้วครับ 

 

3. แย่งพื้นที่เกษตรคุ้มหรือไม่ 
มูลค่าการทดแทนน้ำมันต่อการติดตั้ง Solar 1 ไร่คือ 178 ลิตร/ไร่/วัน มีมูลค่าปีละประมาณ 1,300,000 บาท/ไร่/ปี แต่ถ้าคิดเป็นไฟฟ้าก็ประมาณ 6 แสนกว่าบาท/ไร่/ปี ถ้าเทียบกันกับการปลูกมันสำปะหลัง ซึ่งจะได้ต่อไร่ราวปีละแค่ 10,000 กว่าบาท

 

การติดตั้ง Solar มีความคุ้มค่าในการใช้ที่ดินมากกว่าอย่างชัดเจนครับ ในปัจจุบัน ประเทศไทยปลูกมันอยู่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ ยางพารา 19 ล้านไร่ ปาล์ม 4 ล้านไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ค่อยจะเพียงพอ ถ้าเลือกได้ ดูตามตัวเลขแบบนี้

 

สำหรับคนมีที่ดินการติดตั้ง Solar จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก เพราะ Value ที่ดินจะต่างกันกว่า 100 เท่า แต่ข้อจำกัดหลักๆก็จะเป็นเรื่องไม่มีเงินลงทุน ความรู้ และโอกาสนี่แหละ 

 

บทสรุปในชีวิตจริงๆ

 

มองประเทศกลุ่มนำเรื่องลดโลกร้อน:

 

หลังการประชุมที่ Glasgow เมื่อปลายปีที่แล้ว อเมริกาและยุโรปหลายประเทศ เพิ่งปรับแผนใหม่โดยจะผลิตไฟฟ้าจาก Clean Energy 100% ในปี 2035 เร็วขึ้น 15 ปีจากเดิม 2050 และน่าจะจะห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันแล้วในไม่ช้านี้ เพื่อเร่งการลด CO2  

 

ดังนั้นในทางยุทธศาสตร์โลกอีก 13 ปี US และ EU จะเป็นอิสระจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแล้วครับ ตรงนี้น่าจะเป็นข้อมูลใหม่ที่หลายคนน่าจะยังไม่ได้รับรู้และยังคงเชื่อมั่นในอนาคตของน้ำมันและก๊าซอยู่ แน่นอนว่าตะวันออกกลางและรัสเซียจะหมดความสำคัญลงในระเบียบโลกใหม่นี้ 

 

ยิ่งถ้าเราทุกคนรีบใช้ EV และ Solar มากขึ้นเท่าไหร่ บทบาทของประเทศในเขตต้นชนวนขัดแย้งของ WW3 จะลดลงเรื่อยๆ และถ้าช่วยกันได้เร็วมากพอ เราจะเลี่ยงสงครามใหญ่นี้ได้

 

การไปสู่ความฝัน:

 

แน่นอนว่า นี่คือความเป็นไปได้เบื้องต้น ในชีวิตจริงโลกไม่ได้สวยและง่าย ในเส้นทางที่จะเดินไปจริงๆจะมีรายเอียดทางด้านวิศวกรรม การลงทุน กฎหมาย ภาษีทดแทน การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมและบริการ การวางมาตรการให้ EV ชาร์จจาก Solar เป็นหลัก ต่างๆมากมายที่จะต้องฝ่าฟันคฃ

 

แต่แน่นอนว่า แสงสว่างปลายอุโมงมีแน่นอน เหลือแค่เดินไป จะยากแค่ไหนถ้าตั้งใจช่วยกันเดินไป ประคับประคองกันไป ก็จะไปถึงแน่นอนครับ แล้วทุกคนจะรอด แล้ววิกฤตที่เกิดขึ้นทุกวันนี้น่าจะเป็นวิกฤตพลังงานครั้งสุดท้ายของประเทศไทย

 

อนาคตอยู่ในที่ดินและแสงแดด ไม่ใช่น้ำมันและหลุมก๊าซ