ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท แนวโน้มระยะข้างหน้าเป็นอย่างไร อ่านเลย

18 มี.ค. 2565 | 08:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มี.ค. 2565 | 15:14 น.

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท แนวโน้มระยะข้างหน้าเป็นอย่างไร อ่านเลยที่นี่ หลังที่ประชุม กกพ. มีมติเห็นชอบให้ปรับเพิ่มค่าเอฟที

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท แนวโน้มระยะข้างหน้าเป็นอย่างไร เป็นคำถามที่ประชาชนคนไทยในเวลานี้ให้ความสนใจ เพราะมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับภาระค่าครองชีพที่ต้องจ่าย

 

"ฐานเศรษฐกิจ" มีคำตอบหลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ได้ออกมาชี้แจงผลการประชุมของกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 

 

ทั้งนี้นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงาน กกพ. ในฐานะโฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า กกพ. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าค่าไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที (FT) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 4.00 บาทต่อหน่วย
 

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ตามข้อเสนอของ กฟผ. ประกอบด้วย

 

  • ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เท่ากับประมาณ  68,731 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค. – เม.ย. 2565) ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 65,325 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.21%

 

ค่าไฟขึ้นเดือนไหน หน่วยละกี่บาท

 

  • สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 55.11% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 19.46%  และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.32% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 8.08% พลังน้ำของ กฟผ. 2.58% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.01% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.19% และอื่นๆ อีก 6.25%

 

 

  • ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน พ.ค. – ส.ค. 2565 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ม.ค.– เม.ย. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ 

 

  • อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1 – 31 มกราคม 2565) เท่ากับ 33.20 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากประมาณการในงวดเดือนมกราคม – เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 33.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
     

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรการการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิงให้ต่ำที่สุด ได้แก่ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป. ลาว โครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินก่อนวันเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพิ่มเติมจากกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า

 

การปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาเพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้าอยู่ในราคาที่เหมาะสมและมาตรการการบริหารการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา 

 

ร่วมกับมาตรการการนำ “Energy Pool Price” มาใช้ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมสามารถทำให้ค่าเอฟทีลดลง เป็นผลให้ปรับขึ้นค่าเอฟที ในงวดนี้เพียง 23.38 สตางค์ต่อหน่วย

 

โดยตามแนวทางจากภาคนโยบาย กฟผ. จะแบกรับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงในงวดที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดไว้ก่อน และจะทยอยเรียกคืนค่าเอฟทีเมื่อราคาเชื้อเพลิงปรับตัวลดลง

 

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การบริหารต้นทุนค่าเอฟที หากมีการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดในงวดถัดไปคือ ก.ย.-ธ.ค.นี้ กกพ.จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 64.83 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นประมาณ 40 สตางค์ต่อหน่วย และงวด ม.ค.-เม.ย.2566 จะต้องปรับขึ้นไปอยู่ที่ 110.82 สตางค์ต่อหน่วย หรือขึ้นอีก 46 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ 

 

หากราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาตินับจากนี้ไปมีการปรับลดลงไปจากสมมติฐานต้นทุนเชื้อเพลิงเดิมที่ประเมินไว้ในขณะนี้ แต่หากราคาเชื้อเพลิงจากนี้ไปยังเฉลี่ยมีราคาสูงต่อเนื่อง ค่าเอฟทีในอีก 2 งวดข้างหน้าก็อาจต้องปรับขึ้นเช่นกัน

 

การปรับขึ้นค่าเอฟที แบบขั้นบันได ในส่วนของ กฟผ.ก็ยังคงแบกรับภาระไว้ 38,900 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ กฟผ. ก็มีการบริหารจัดการไปส่วนหนึ่ง ด้วยการขออนุมัติเงินกู้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว

 

แต่ กกพ.ก็ไม่อยากให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งแบกรับภาระดังกล่าวไว้จนเกินกำลังและขีดความสามารถของหน่วยงานนั้นๆ ทำให้ กกพ.กำลังมองหาผู้ประกอบการอื่นๆมาช่วยแบกรับภาระ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ว่าจะช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติและแอลเอ็นจีได้หรือไม่อย่างไร เป็นต้น