รพ.พระราม 9 ออกแถลงการณ์ โต้ ศบค. คลัสเตอร์บุคคลากรทางการแพทย์

25 มี.ค. 2565 | 05:12 น.

โรงพยาบาลพระรามเก้า ออกแถลงการณ์โต้ ศบค. เรื่องคลัสเตอร์กลุ่ม Health Care Worker หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข ยืนยันไม่จริง

หลังจากที่มีการประกาศจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 (ศบค.) ลงวันที่ 24 มีนาคม 2565 เรื่อง ศบค.ชุดเล็กหารือกันและมีความเป็นกังวลเกี่ยวกับคลัสเตอร์กลุ่ม Health Care Worker หรือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์หรือสาธารณสุข จาก โรงพยาบาลพระรามเก้า นั้น

 

 ล่าสุด โรงพยาบาลพระรามเก้า ได้ออกแถลงการณ์ โดยระบุว่า

 

ทางโรงพยาบาลขอเรียนชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง

โรงพยาบาลพระรามเก้า

เนื่องด้วยนับจากการเริ่มมีประกาศการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) จนถึงปัจจุบัน ทางโรงพยาบาลพระรามเก้ามีการกำหนดนโยบายป้องกันและมาตรฐานการควบคุมการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด และชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอน เริ่มต้นคัดกรองก่อนเข้ารับบริการ – จุดเข้ารับตรวจโรคและรักษาโรค ตลอดจนจุดรับบริการฉีดวัคซีน โดยคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยเป็นสำคัญ อีกทั้งยังมีการตรวจคัดกรองบุคลากร อย่างสม่ำเสมอ

 

ทั้งนี้ ยอดพนักงานผู้ติดเชื้อที่อยู่ระหว่างการรักษาวันที่ 24 มีนาคม 2565  มีจำนวนเพียง 7 รายเท่านั้น

 

มีประวัติการสัมผัสและติดเชื้อจากบุคลคลใกล้ชิดของครอบครัวทั้งสิ้น และพนักงานที่ติดเชื้อได้เข้ารับการรักษาตามระบบและมาตรฐานของโรงพยาบาลอย่างเรียบร้อย ตลอดจนมีการคัดแยกผู้ที่มีกลุ่มเสี่ยง เพื่อเฝ้าระวังอาการอย่างชัดเจน ซึ่งจากการคัดกรองตามระเบียบยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดยอัตราการติดเชื้อของพนักงานไม่ต่างจากประชากรทั่วไป

 

ในนามโรงพยาบาลพระรามเก้า ด้วยมาตรฐานการรักษาที่เป็นมาตรฐานระดับสากล มีความเชื่อมั่นในนโยบายป้องกันและมาตรฐานการควบคุมการติดเชื้อภายในโรงพยาบาล เพื่อคุณภาพและสุขภาพที่ดีของผู้เข้ารับบริการ ตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน ขอให้ทุกท่านมั่นใจได้ ทางโรงพยาบาลขอสัญญาว่าจะมุ่งมั่นให้การรักษาพยาบาลและรักษามาตรฐานอย่างเต็มที่เช่นนี้ต่อไป

 

สำหรับผลประกอบการของโรงพยาบาลพระรามเก้า ในปี 2564 มีรายได้รวม 3,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ป่วยในประเทศที่เริ่มกลับมาใช้บริการปกติในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ส่งผลให้กำไรสุทธิ แตะ 249.2 ล้านบาท เติบโต 23.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยไตรมาส 4/64 สามารถทำกำไรสูงสุดที่ 115.9 ล้านบาท

 

ขณะที่โรงพยาบาลมีศักยภาพในการรองรับการรักษาโรคซับซ้อนได้ดี โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังคงมีความจำเป็นและความต้องการการรักษาพยาบาลที่มีความซับซ้อนสูง รวมถึงการให้การรักษาผู้ป่วย COVID-19   รายได้จากศูนย์สุขภาพ และศูนย์เลสิค

 

รวมทั้งมีการจัดการต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ดี แม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายบางส่วนปรับสูงขึ้น อาทิ ค่าสาธารณูปโภค ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดอาคารใหม่ แต่โรงพยาบาลก็สามารถบริหารจัดการ ประหยัดค่าใช้จ่ายหลายๆ รายการ โดยเฉพาะในส่วนของค่าใช้จ่ายทางด้านบุคลากรยังคงทำได้ดีขึ้นจากการบริหารชั่วโมงทำงานและกระจายทรัพยากรบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น