กรอ.เข้มโรงานปล่อยน้ำเสียเกินค่ามาตรฐาน ปรับสูงสุด 200,000 บาท

21 มี.ค. 2565 | 06:40 น.

กรอ.เข้มโรงานปล่อยน้ำเสียเกินค่ามาตรฐาน ปรับสูงสุด 200,000 บาท ขานรับนโยบาย ครม. แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. ได้ดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานคร ตรวจสอบโรงงานบริเวณคลองแสนแสบจำนวน 240 แห่ง ทั้งที่มีการระบายน้ำทิ้งและไม่มีการระบายน้ำทิ้ง พร้อมเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 - 28 กุมภาพันธ์ 2565 ในพื้นที่ 21 เขต ได้แก่ 

 

 

ดุสิต ราชเทวี ปทุมวัน ดินแดง ห้วยขวาง วัฒนา จตุจักร หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขน ลาดพร้าว วังทองหลาง สวนหลวง บางกะปิ มีนบุรี คันนายาว สะพานสูง คลองสามวา บึงกุ่ม หนองจอก

 

และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยดำเนินคดีกับโรงงานที่ระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขทันที เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้น้ำทิ้งจากโรงงาน ทำลายคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ

 

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบโรงงานทั้ง 240 แห่ง พบโรงงาน 2 แห่ง ระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ บริษัท มอลล์ อินเตอร์-พริ้นท์ จำกัด เขตสวนหลวง มีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) 9.3 (ค่ามาตรฐาน 5.5-9.0) และค่าซีโอดี 414 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 400 มิลลิกรัมต่อลิตร)

 

และบริษัท โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง จำกัด เขตลาดพร้าว มีค่าบีโอดี 2,216 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร) ค่าซีโอดี 4,020 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 120 มิลลิกรัมต่อลิตร)

 

กรอ.เข้มโรงานปล่อยน้ำเสียเกินค่ามาตรฐาน ปรับสูงสุด 200,000 บาท

 

และค่าของแข็งแขวนลอย 125 มิลลิกรัมต่อลิตร (ค่ามาตรฐาน 50 มิลลิกรัมต่อลิตร) กรอ. จึงได้สั่งการให้โรงงานทั้ง 2 แห่งปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะบำบัดน้ำเสียทั้งหมด เมื่อโรงงานปรับปรุงแล้วเสร็จ กรอ. จะดำเนินการเก็บน้ำทิ้งเพื่อตรวจวัดวิเคราะห์อีกครั้งโดยเร็วที่สุด และจะเร่งดำเนินคดีกับทั้ง 2 โรงงาน มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

ขณะนี้ กรอ. ได้ส่งเจ้าหน้าที่สนับสนุนการตรวจโรงงานขนาดเล็ก (โรงงานจำพวกที่ 1 และจำพวกที่ 2) บริเวณคลองแสนแสบ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร โดยดำเนินการร่วมกับกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม - 5 เมษายน 2565 จำนวน 62 โรงงาน เพื่อให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานครให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องในภารกิจการกำกับดูแลโรงงานที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจ

 

รวมถึงเพื่อให้คำแนะนำกับโรงงานให้สามารถประกอบกิจการโรงงานได้อย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งผลการตรวจสอบโรงงานขนาดเล็ก เบื้องต้นพบว่าโรงงานปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎหมาย และยังไม่พบการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองแสนแสบ ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ทุกโรงงานปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด

 

นายวันชัย กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 เห็นชอบแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ. 2564-2574) ซึ่งเป็นการบูรณาการงานร่วมกันของ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์การจัดการน้ำเสีย กรมเจ้าท่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ