วันสุดท้าย ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู 2565 เช็กวิธีการช่วยเหลือด่วน ที่นี่

13 มี.ค. 2565 | 22:35 น.

เปิดการลงทะเบียนแก้หนี้สินครู ปี 2565 วันสุดท้าย ของรอบแรกหลังกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มโครงการมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. - 14 มี.ค. 2565 เพื่อให้ครูและบุคลากรทางศึกษาแจ้งความประสงค์แก้หนี้ เช็กรายละเอียดทั้งหมดได้เลยที่นี่

รัฐบาลเปิดการ ลงทะเบียนแก้หนี้สินครู ปี 2565 เป็นการช่วยเหลือครูและบุคลากรทางศึกษา เข้ามาลงทะเบียนผ่าน กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจ้งความประสงค์เข้าสู่ชั้นตอนตามกระบวนการของการแก้ไขปัญหาหนี้สิน

 

สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือผ่านโครงการนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ต้องการลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้ลดลง ให้ต้องเป้าหมายให้ครูสามารถมีรายได้ต่อเดือนเหลือไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือน เพื่อจะได้มีเงินเหลือไปใช้จ่ายและไม่จำเป้นต้องกู้ยืมเงินมาเพิ่มเติมอีก

 

ระยะเวลาลงทะเบียน

 

วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2565 เป็นระยะเวลา 1 เดือน

 

วิธีลงทะเบียนมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ครูลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ คลิกที่นี่
  2. ข้อมูลถูกส่งมาที่กระทรวงศึกษาธิการ
  3. ข้อมูลถูกส่งต่อไปสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อเจรจากับเจ้าหนี้

สำหรับแนวทางขับเคลื่อนการการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู ในระยะแรกมี 4 มาตรการ ดังนี้

 

มาตรการที่ 1 ลดดอกเบี้ย 

 

โดยให้สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ครูรายใหญ่เข้าร่วม ขณะนี้มีสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 70 แห่ง จากทั้งหมด 108 แห่ง เข้าร่วมปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว โดยจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงตั้งแต่ 0.05-1.0% และพบว่ามีสหกรณ์ 11 แห่ง สามารถปรับลดดอกเบี้ยให้ลงเหลือต่ำกว่า 5% 

 

โดยมีครูที่ได้รับประโยชน์ทันทีกว่า 460,000 คน และจะเร่งขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศในระยะถัดไป ซึ่งครูมีหนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1,000,000 บาท หากอัตราดอกเบี้ยลดลง 1% จะทำให้ครูมีเงินไว้ใช้จ่ายต่อปีเพิ่มขึ้นถึง 10,000 บาท 

 

ขณะเดียวกันนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน จะเป็นคนกลางในการประสานขอความร่วมมือกับธนาคารออมสิน เพื่อชะลอการดำเนินคดีทางกฎหมายกับกลุ่มครู ซึ่งคาดว่ามีครูได้รับประโยชน์กว่า 25,000 คน

 

มาตรการที่ 2 พิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้อย่างเคร่งครัด 

 

โดยยอดหนี้รวมทั้งหมดของผู้กู้ต้องไม่ให้มากเกินกว่า 70% ของรายได้ เพื่อให้ครูสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน เนื่องจากครูมีหนี้สินหลายด้าน ระบบการพิจารณาอนุมัติเงินกู้ยังไม่เป็นระบบที่เชื่อมโยง กระทรวงศึกษาธิการ จึงร่วมมือกับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ในการสร้างระบบและเชื่อมโยงหนี้รายบุคคล 

 

เพื่อให้ทราบข้อมูลหนี้ครูรายคนสำหรับการบริหารจัดการและไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำซ้อน โดยทางเครดิตบูโรสนับสนุนให้ ศธ. ใช้ระบบได้ฟรี ไม่คิดใช้จ่าย หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติม มีหนี้รวมมากกว่า 70% จะไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เพิ่ม

มาตรการที่ 3 จัดตั้งสถานีแก้หนี้สินครู

 

โดยมีการแยกเป็น ระดับเขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานทางการศึกษา 481 แห่ง และระดับจังหวัด 77 จังหวัด รวม 558 สถานีทั่วประเทศ โดยดำเนินการในรูปคณะกรรมการ ดังนี้

  • สถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา กำหนดให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) หรือหัวหน้าหน่วยงานทางการศึกษา เป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวทางแก้หนี้ร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู ส่วนราชการ และสถาบันการเงิน, จัดทำระบบข้อมูล, ปรับปรุง กำหนดมาตรการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้, รับลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้กับครูและผู้ค้ำประกัน
  • สถานีแก้หนี้ครูฯ ระดับจังหวัด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน กำกับดูแลในภาพรวมของจังหวัด บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นภายในจังหวัด ช่วยเหลือสถานีแก้หนี้ตามที่ได้รับการร้องขอ

 

มาตรการที่ 4 ให้ความรู้ด้านการเงินให้ครู

 

โดยประสานงานกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ครูสามารถวางแผนการเงิน และมีระเบียบวินัยในการใช้จ่ายได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น

 

น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า นับตั้งแต่กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดให้ครูมาลงทะเบียนแก้ปัญหาหนี้สิน เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีครูมาลงทะเบียนแล้ว 27,427 ราย

 

โดย กระทรวงศึกษาธิการ จะส่งต่อให้เขตพื้นที่ฯ เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ จะเดินหน้าหาแนวทางแก้ไขที่หลากหลาย รวมถึงดำเนินการเกี่ยวกฎ ระเบียบต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและแบ่งเบาการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูต่อไป